เรื่องเที่ยวกับเรื่องกินนั้นเป็นอะไรที่แยกกันไม่ขาด เพราะอาหารก็คือวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เวลาไปเที่ยวไหนฉันจึงจะต้องกินแต่อาหารประจำถิ่นนั้นๆ ไม่มีทางเลยที่จะไปกินอาหารไทยอาหารจีน อยู่อิตาลีสองอาทิตย์ก็กินอาหารอิตาเลียน 42 มื้อ อยู่อินเดีย 5 วันก็กินอาหารแขก 15 มื้อ ไม่มีปัญหาฉานกินด้าย ฉานชอบ ขอให้เป็นของอร่อยของเมืองเถอะ

ไปไหนแต่ละทีนอกจากจะต้องวางแผนรายการเที่ยวแต่ละวันแล้ว ฉันจึงต้องวางแผนรายการกินแต่ละมื้อด้วย ซึ่งทำให้การวางแผนเที่ยวของฉันไม่ง่ายเลยและต้องใช้เวลามากสุดๆ   พอได้โปรแกรมว่าวันไหนไปไหนแล้ว ต้องเอารายการร้านอาหารและสารพันสิ่งที่อยากจะชิมมาเรียงดูอีกว่าลงตัวกับสถานที่ๆจะไปไหม ดังนั้นเวลาใครขอโปรแกรมเที่ยวไปลอก จึงมักบอกว่าลอกรายการกินไปด้วย เพราะคิดมาถ้วนถี่แล้ว เหนื่อยคิดมาเยอะ ช่วยๆกันเอาไปเที่ยวตามกินตามให้คุ้มหน่อยเถอะค่ะ

แต่นอกจากจะวางแผนว่าต้องไปกิน “อะไร”แล้ว ฉันยังต้องคิดอีกว่าต้องกิน “เมื่อไหร่” ด้วย ไม่ได้เรื่องมากเลยนะ แต่มันจำเป็นจริงๆ เพราะของอร่อยบางอย่างมีแค่ในบางฤดู จะไปไหนจึงต้องดูด้วยว่าของกินอะไรอร่อยในฤดูนั้น ที่สำคัญ ฉันเป็นคนเชื่อมั่นในเรื่องกินอาหารตามฤดูกาล นอกจากประหยัดเงินเรา และได้กินของอร่อยแล้ว ยังเป็นการบริโภคที่ช่วยลดโลกร้อน เพราะไม่ต้องขนส่งหรือเก็บอาหารที่ต่างฤดูกาล

tardivo-radicchio-1เมื่อวานได้กินผักสองอย่างที่เป็นผักฤดูหนาวของอิตาลี เพื่อนชาวสวิสอิตาเลียนกลับไปอิตาลีอาทิตย์ก่อน ตกลงกันว่าให้เธอซื้อผักสดของโปรดเรามาจากอิตาลี เอามาทำอาหารกินกัน เธอกลับมาด้วย Tardivo Radicchio ผักประเภทผักกาดกลีบหนาที่มีสีแดงตรงใบและขาวตรงแกนก้าน อร่อยมากและรูปสีสันฟอร์มสวยขาดใจ หน้าตาดูดีมีสกุลมากๆ เป็นผักที่มีชื่อเล่นว่า Winter flowers ดอกไม้แห่งฤดูหนาว จึงมีให้รับประทานในช่วงหน้าหนาวของอิตาลีจนถึงมีนาคมเท่านั้น แต่เจ้าดอกไม้แห่งฤดูหนาว นี่ไม่ได้มีทั่วไปในอิตาลีนะ เธอเป็นพืชประจำถิ่นของอิตาลีทางเหนือแถวเวนิซ จะไปซื้อทางใต้ก็ไม่ถูกถิ่นแท้อีก ฝรั่งยุโรปนี่เขารณรงค์เรื่องพืชผักประจำถิ่นกันมาก ชาวสวนจะออกมาช่วยกันโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าสวนของตัวปลูกผักแท้ประจำถิ่นซึ่งจะมีรสชาติดีกว่าที่นำไปปลูกที่อื่น ชาวสวนที่นี่จึงมีเว็บไซต์ที่ดูดีและชวนให้เราอยากซื้อผักเขามาทำอาหารมากๆ

เพื่อนสาวกาเบรียลล่ายังนำผักมาอีกชนิดที่เราไม่รู้จัก   และเธอก็ไม่รู้จักเหมือนกัน เธอว่าใครๆที่ตลาดเชียร์ให้ซื้อ ชื่อ Cardi cardiว่าอร่อยมากก็เลยลองซื้อมา ฉันดูๆหน้าตาไม่น่าอร่อยเลิศเลอเลย เป็นก้านเขียวๆธรรมดาเหมือนลูกครึ่งระหว่างเซเลอรี่หรือคึ่นช่ายฝรั่งกับรูบาร์บ (Rhubarb) ก้านเริ่มจะดำๆและใบเริ่มเหี่ยว กาเบรียลล่าเปิด YouTube เจอเชฟอิตาเลียนสอนวิธีทำเราเลยทำตาม คือต้องลอกเอาใยหนาๆเหนียวๆตรงโคนก้านออกก่อน แล้วปอกผิวๆเอาเส้นใยออกอีกหน่อย จากนั้นตัดปลายและใบทิ้ง เหลือแค่ก้านก็หั่นเป็นท่อนๆแล้วนึ่งหรือต้มนานๆจนเปื่อย จากนั้นก็จัดใส่จาน โรยเกลือพริกไทยน้ำมันมะกอกและพามาร์ซานชีสอย่างดีจากอิตาลี ส่วน Tardivo Radicchio เราผ่าครึ่งหัววางในจานเปลอบไฟแรง ราดเกลือพริกไทยน้ำมันมะกอกและพามาร์ซานชีสเหมือนกัน ผักสองอย่างจัดวางในจานเสิร์ฟคู่กันเป็นจานเรียกน้ำย่อย โอ มันอร่อยมาก เจ้าผักคาร์ดีที่เพิ่งเคยชิมครั้งแรกนี่รสชาติดีทีเดียว เหมือนอาร์ติโช้ค (เขาว่ามันตระกูลเดียวกัน) ทั้งที่หน้าตาชวนให้เดาว่าจะรสเหมือนรูบาร์บ กรอบมันอร่อย

พืชพันธุ์อาหารในฤดูกาลนี่มันรสชาติดีอย่างนี้เอง ไม่ต้องปรุงอะไรมากเลย รสแท้ๆตามธรรมชาติของมันอร่อยเอง แถมกินแล้วรู้สึกสุขภาพดี และยังเป็นมิตรกับชาวสวนและสิ่งแวดล้อม ฉันตั้งใจเลยว่าปีต่อๆไปหน้าหนาวเวลาลงไปอิตาลีต้องไม่ลืมซื้อมากินอีก พูดแล้วก็นึกได้ว่า อีกไม่นานหมดหนาวฤดูใบไม้ผลิย่างเข้ามาแล้ว ของโปรดอีกอย่างกำลังจะตามมา แอสปารากัสหรือหน่อไม่ฝรั่งนั่นเอง ยิ่งชนิดสีขาวที่อร่อยขึ้นห้างอันนี้ต้องมาจากเนเธอร์แลนด์หรือเบลเยี่ยม ขอเก็บไว้เล่าคราวหน้า ลีลาจริตการกินหน่อไม้ฝรั่งนี้เรื่องไม่น้อยอีกเหมือนกัน โปรดติดตามตอนต่อไป

NO COMMENTS