ซานซิบาร์ แค่ชื่ออย่างเดียวก็ชวนให้หัวใจเปลี่ยนจังหวะเต้นเสียจนติดรายชื่อที่ต้องไปเยือนให้ได้แล้ว ไม่รู้สักนิดว่าเกาะในมหาสมุทรอินเดียทางตะวันออกของประเทศแทนซาเนียนี้มีอะไร แต่ในมโนภาพนั้นคือเมืองอาหรับเก่าย้อนยุคในกลิ่นอายทะเล มีตรอกซอกซอยเล็กแคบลัดเลาะไประหว่างบ้านชาวมุสลิมในตึกเก่าปูนร่อน กลิ่นหอมเครื่องเทศ ชาวท้องถิ่นที่เป็นลูกผสมระหว่างแขกเปอร์เซียตะวันออกกลางและแอฟริกา ความน่าหลงใหลของประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้อย่างคลุมเครือ และพระอาทิตย์ที่ตกตรงที่ที่ขอบฟ้าชิดกับเส้นทะเลเป็นสีส้มฉานขณะที่ใบเรือสามเหลี่ยมแบบแอฟริกาค่อยๆแล่นผ่านเข้าฉากมา โรแมนติกขาดใจzanzibar-stonetown-15

และในที่สุดฉันก็ได้โอกาสไปเยือนจริงๆ หลังจากไปลุยป่าซาฟารีที่แทนซาเนียมาห้าวัน การวางแผนเดินทางต่อมาอีกนิดเพื่อนั่งๆนอนที่ชายหาดบนเกาะซานซิบาร์และเดินชมเมืองเก่ามรดกโลกคือรายการที่เหมาะเจาะลงตัวที่สุด จากแผ่นดินใหญ่มีเครื่องจากเมืองต่างๆของแทนซาเนียเช่น Dar es Salaam หรือ Arusha หรือ Kilimanjaro และจากเมืองไนโรบีประเทศเคนย่ามาลงที่ซานซิบาร์ได้เลย ใช้เวลาบินไม่นาน ราว 1-2 ชั่วโมงตามแต่ระยะทาง แต่ราคาตั๋วเครื่องบินในประเทศแทนซาเนียหรือจากเคนย่านี้นับว่าแพงทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น Kenya Airways หรือ Precision Air หากมีเวลาและชอบเที่ยวสมบุกสมบันหน่อยก็สามารถนั่งเรือเฟรี่ข้ามจากมาได้

จากสนามบินเรียกแท็กซี่ที่ยืนดาหน้าคอยมะรุมมะตุ้ม มีคนคอยจัดการแจกคิวรถให้แบบมั่วๆ ต้องตกลงให้แน่ก่อนขึ้นรถว่าจะไป Stonetown ราคา 10 เหรียญยูเอส ถนนเข้าเมืองเล็กๆและมีเสน่ห์แบบเมืองเล็ก ผ่านบ้านตึกปูนโบราณเก่าต้นไม้ครึ้มเลาะเลี้ยวไป อารมณ์แบบอาหรับมากกว่าจะเป็นแอฟริกา ไม่นานก็เข้าเขตตัวเมืองเก่ามรดกโลก สโตนทาวน์ อดนึกถึงเมืองเก่าฮาวาน่าไม่ได้ ช่างมีความละม้ายคล้ายกันจริงๆแม้จะเป็นสถาปัตยกรรมแขกไม่ใช่สเปน แต่ที่ไม่เหมือนคือที่นี่ดูสกปรกกว่ามาก ไม่ใช่สกปรกเพราะเก่าหรือจน แต่เพราะคนทิ้งขยะลงพื้น บ้านเรือนบางหลังทรุดโทรมรกร้างเพราะถูกปล่อยปละ น่าเสียดาย

โรงแรมที่ฉันเลือกในบรรยากาศเมืองแบบนี้ย่อมต้องเป็นโรงแรมบูทีคในตึกเก่าแต่งแบบย้อนยุค เดิมตั้งใจจะไปนอนที่ Emerson Spice เพราะเป็นโรงแรมบูทีคแห่งแรกที่เอาตึกเก่ามาทำใหม่ แต่เขียนเมล์ไปหลายรอบตอบบ้างไม่ตอบบ้าง ท่าทางเหมือนจะทำเล่นๆไม่จริงจัง ฉันเลยสืบไปจนพบว่า เจ้าของโรงแรมเดิมมีสองคน สร้าง Emerson Green ขึ้นมาก่อน แล้วแยกตัวไปทำ Emerson Spice อีกที่พร้อมเอาชื่อเก่าไปด้วย ที่เดิมเลยเปลี่ยนชื่อเป็น 236 Hurumzi ฉันเลยจองไปที่ดั้งเดิมฮูรุมซี่ดีกว่า ปรากฎกลับมาไม่นานนิตยสาร Conde Naste Travelers ประกาศให้รางวัลเอเมอร์สันที่ใหม่ว่าเป็นสุดยอดบูทีคโฮเท็ลในซานซิบาร์ อ้าว….

แต่ฮูรุมซี่ก็น่ารักใช้ได้แม้ช่วงที่ไปจะขาดการดูแลความสะอาดเพราะเป็นช่วงโลว์ซีซัน ฉันชื่นชมคนที่ตาถึงสามารถดัดแปลงสถาปัตยกรรมเก่ามาใช้งานให้เหมาะกับชีวิตปัจจุบัน เก็บอารมณ์ย้อนยุคไว้ได้แต่เสริมความสะดวกสบายแบบปัจจุบันเข้าไป แถมดีไซน์ของซานซิบาร์ยังได้อิทธิพลมาจากแขก ซึ่งเน้นสีสันจัดจ้านบนผนังปูนและกระเบื้องสีสด จึงถูกจริตฉันเป็นพิเศษ เตียงนอนสี่เสามีมุ้งคลุม หน้าต่างสเตนกลาสสีสดให้แดดส่องเข้ามาประกายระยับยามเช้า โรแมนติกอย่างที่ฝันไว้จริงๆ ห้ามนอนคนเดียวเด็ดขาดzanzibar-stonetown-9

หัวใจของซานซิบาร์นี้ก็คือสโตนทาวน์ ซึ่งสามารถเดินลัดเลาะชมไปตามตรอกซอกซอยได้ทั่ว ฉันจึงเก็บเวลาสองวันที่อยู่ที่นี่ไว้โดยไม่สนใจจะซื้อทัวร์ออกไปชมไร่เครื่องเทศ (Spice Tour) หรือชมซากโบราณสถานอื่นนอกเมืองเลย ขอใช้เวลาเดินเล็มเก็บภาพเก็บบรรยากาศตึกเก่าเมืองโบราณพร้อมชมสถานที่ประวัติศาสตร์ที่อยู่ในเมืองให้ครบ และชื่นชมวิถีชีวิตที่ยังเป็นไปแบบไม่จัดฉากให้ชื่นฉ่ำใจ

แค่ก้าวเท้าออกจากโรงแรมก็ตื่นตาตื่นใจแล้ว เหมือนส่วนผสมระหว่างฮาวาน่ากับมาราเกช เหมือนฮาวาน่าตรงที่ตึกรามเป็นยุคเก่าที่ผุพังร่วนสีเก่าลอก แต่ยังคงเสน่ห์ชวนให้เก็บรูปของประตูหน้าต่างที่สะท้อนความงามในอดีตอย่างไม่รู้เบื่อ แต่เหมือนมาราเกชตรงที่ตึกเหล่านั้นกลายเป็นร้านขายของที่บรรดาแขกคนขายต่างร้องเรียกเชิญชวนอย่างแทบจะอุ้มเข้าร้าน ยังดีที่ของที่ขายเป็นของพื้นเมืองอยู่มาก ไม่ใช่ของที่ระลึกโหลๆจากเมืองจีน เช่นผ้ามัดย้อมลายเฉพาะถิ่น ไม้แกะสลักเป็นของเล่นบ้างเครื่องดนตรีบ้าง ภาพวาดศิลปินพื้นเมือง เฟอร์นิเจอร์ไม้แบบแขกสวยไม่แพ้โมร็อคโคแต่ถูกกว่ามากจนใจเต้นแรง นอกจากร้านขายของแล้วตึกเหล่านั้นก็เป็นร้านอาหารบ้าง คาเฟ่เล็กๆบ้าง มีสปาร้านนวดและอาบน้ำขัดตัวฮัมมัมตามธรรมเนียมแขกอาหรับ ที่น่ารักคือส่วนมากยังเป็นบ้านคนที่อาศัยอยู่จริง จึงได้เห็นวิถีชีวิตประจำวันของเขา เห็นนักเรียนเดินไปโรงเรียน ชาวบ้านสวดมนต์ในมัสยิดห้าเวลาต่อวัน รถเข็นขายของกินพื้นเมือง สมแล้วที่ยูเนสโก้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเอาไว้

จุดใจกลางของสโตนทาวน์น่าจะเป็นช่วงถนนเลียบทะเลตั้งแต่สวน Forodhani Gardens ไปจนถึงตึก House of Wonders, Palace Museum และ Old Customs House

ติดกับสวนคือ Old Fort ป้อมปราการเก่าที่ปัจจุบันเป็นศูนย์วัฒนธรรม ด้านในเป็นสนามหญ้าโล่งๆ ใช้เป็นลานจัดการแสดงกลางแจ้ง ขึ้นไปเดินบนกำแพงรอบป้อมได้ มีร้านขายของงานฝีมือท้องถิ่นเรียงกันด้านล่าง แต่ดูเผินๆแล้วสู้ร้านตามตรอกซอกซอยในเมืองไม่ได้

เดินทะลุออกจากป้อมมาตรงสวนซึ่งเสมือนเป็นสวนสาธารณะประจำเมือง เพิ่งบูรณะใหม่จึงยังสะอาดสะอ้านสวยงามด้วยพุ่มไม้และม้านั่ง แต่ว่ากลางวันไม่มีคนมาเท่าไร ตอนเย็นๆไปถึงกลางคืนจึงจะคึกคัก ช่วงเย็นเด็กผู้ชายวัยรุ่นจะมากระโดดน้ำเล่นแข่งกันที่ท่าน้ำริมทะเล เขาจะเข้าคิวกันแล้ววิ่งจากลานพุ่งไปที่ท่าน้ำแล้วกระโดดตัวลอยลงน้ำ ต่างคนต่างแข่งกันประดิษฐ์ท่าโดดที่กะว่าอวดลีลากันเต็มที่ ทั้งม้วนตัวตีลังกา ฉีกแข้งขา หมุนรอบ สารพัด เป็นบรรยากาศที่สนุกสนานเต็มไปด้วยชีวิตชีวาแบบท้องถิ่น เรียบง่ายไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วย ที่เด็ดคือพอพระอาทิตย์ตก สีของตะวันที่ยอแสงย้อมภาพเด็กๆให้เป็นเงาดำตัดกับฉากสีส้มและประกายน้ำทะเล สวยจับตาและเสียงหัวเราะนั้นจับใจมากๆ

zanzibar-sunset-jumpพอมืดลานซีเมนต์ในสวนก็จะเริ่มคึกคักไปด้วยคนที่มาเดินซื้อของกินจากแผงอาหารเหมือนตลาดโต้รุ่งบ้านเรา ส่วนมากเป็นอาหารทะเลปิ้งย่าง สารพัดจำพวก กุ้งหอยปูปลากั้งหมึก หมักเครื่องเทศหลายแบบให้เลือก บาร์บีคิวเนื้อสัตว์ต่างๆก็มี และมี “พิซซ่าซานซิบาร์” ซึ่งก็คือแป้งนานของแขกใส่ไส้ต่างๆ มีน้ำอ้อยคั้นสดๆเหมือนบ้านเรา ฉันได้ลองมากินแบบนี้คืนหนึ่ง อาหารมากมายดูตื่นตาตื่นใจ ซื้อแล้วไปนั่งกินริมทะเล ได้อารมณ์และบรรยากาศแต่ขอบอกว่าไม่อร่อยเลย แถมแขกคนขายยังขี้โกง ไม่ยอมบอกราคาก่อน แต่พอส่งของกินให้ก็โก่งราคาแพงๆ อ้างโน่นนี่นั่น เช่นเพิ่มค่าสลัด (ซึ่งคือมะเขือเทศและแตงกวาเหี่ยวๆ) เราทนความขี้โกงไม่ได้ต้องขอเถียงจะไม่ยอมจ่ายและยกเลิกทั้งหมดจึงค่อยยอมลดราคา ก็เห็นๆอยู่ว่าเขาบอกราคาให้คนแขกด้วยกันถูกกว่าตั้งเยอะ

zanzibar-stonetown-18ถัดลานสวนมาเป็น House of Wonders หรือ Beit ElAjaib ที่ชื่อ “บ้านพิศวง”ก็เพราะวังเก่าแห่งนี้เป็นอาคารแห่งแรกในแอฟริกาตะวันออกที่มีลิฟท์และไฟฟ้าใช้ สร้างขึ้นเมื่อปี 1883 โดยสุลต่านองค์หนึ่ง เคยถูกราชนาวีอังกฤษทิ้งระเบิดตอนสงครามกลางเมือง ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ควรซื้อตั๋วเข้าไปชม แสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของซานซิบาร์ที่ผ่านร้อนหนาวมาแต่ละยุค รวมทั้งวัฒนธรรมของเผ่าสวาฮิลีคนพื้นเมืองดั้งเดิม และรายละเอียดของการสร้างและการใช้เรือ Dhow ซึ่งเป็นเรือประจำถิ่นของแอฟริกาตะวันออก

แต่ที่ฉันชอบมากกว่า(ตามเคย)คือตัวอาคารวัง นิทรรศการนั้นจัดแสดงเฉพาะชั้นล่างและเปิดชั้นสองให้เดินชมห้องหับต่างๆได้ ที่เด็ดคือชั้นบนสุดที่มีระเบียงไม้กรุเชิงลูกไม้ฉลุรอบตัวอาคารทั้งสี่ด้าน เดินวนชมได้รอบเห็นวิวสโตนทาวน์อย่างครบทิศ ตอนที่ฉันขึ้นไปนั้นเป็นเวลาพระอาทิตย์ตกพอดี นั่งชมวิวฟ้าสีส้มทะเลสีน้ำเงิน มีเรือโดว์หลายลำแล่นช้าๆตัดขอบฟ้าเข้ามาจนจรดขอบพระอาทิตย์กลมโตที่กำลังสำผัสน้ำ ค่อยๆแล่นตัดผ่านไป และพระอาทิตย์ก็ค่อยจมหายไปในมหาสมุทรอินเดีย สวยงามซึ้งใจอย่างไม่มีที่ใดเหมือน เพราะรอบตัวเป็นกลิ่นอายบรรยากาศของเมืองท่าแขกที่เคยค้าขายรุ่งเรือง ฉันได้อารมณ์เหมือนอยู่ท่ามกลางเมืองที่พ่อค้าวาณิชกำลังเก็บข้าวของที่ใส่เรือมาแลกขาย การค้าเจรจาที่หนื่อยหนักของวันได้จบลง และพร้อมที่จะเตรียมตัวออกรื่นเริงยามราตรีเมื่อรัตติกาลคลี่ผ้ากำมะหยี่สีดำออกห่มคลุมzanzibar-terrace

zanzibar-museum-sunsetเดินเลียบทะเลต่อมาตรงหน้าคือตึกโบราณสวยตระการที่กร่อนตามกาลเวลาอันเป็นพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่ง Palace Museum หรือ Beit ElSahel ฉันไม่ได้เข้าไปชม แต่อ่านประวัติดูว่าเคยเป็นวังเก่าของสุลต่าน ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงข้าวของเรื่องราวสมัยที่ซานซิบาร์ปกครองโดยสุลต่าน โดยเฉพาะมีส่วนแสดงของต่างๆเกี่ยวกับเจ้าหญิง Salme ผู้ซึ่งตกหลุมรักชายชาวเยอรมันและหนีตามไปยุโรป เป็นนิยายรักประวัติศาสตร์ที่ฟังดูโรแมนติกเหลือเชื่อ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆที่เจ้าหญิงมุสลิมแห่งเมืองที่เคร่งครัดในสมัยก่อนจะฝ่าม่านประเพณีทำตามหัวใจเช่นนี้ ห้องของโรงแรมที่เราพักก็ตั้งชื่อห้องว่าซาลเม่ตามชื่อเจ้าหญิงนี้แหละ

นอกจากพิพิธภัณฑ์สองแห่งนี้แล้วยังมีสถานที่แห่งประวัติศาสตร์อีกหลายแห่งที่อยู่ใจกลางสโตนทาวน์ ใช้เวลาหนึ่งวันเดินเล่นไปตามวงกตตรอกซอกซอย วางแผนเส้นทางเดินเพื่อเข้าชมสถานที่เหล่านั้น ระหว่างเดินก็เก็บรูปวิถีชีวิตและตึกเก่าแบบอาหรับสวยงาม ตั้งใจหลงทางบ้าง อย่างไรก็วนกลับมาได้แน่นอน หิวก็แวะหาอะไรกิน สบายๆได้ครบทั้งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมปัจจุบัน ที่ที่ควรไปชมคือ Old Slave Market เป็นตลาดค้าทาสในสมัยก่อนในยุคที่ถูกปกครองโดยโอมาน แม้ปัจจุบันจะไม่เหลืออะไรให้ชมมาก แต่เรื่องราวที่ไกด์ประจำสถานที่เล่าให้ฟังก็น่าสนุกทีเดียว เราได้คุณลุงที่หน้าเหมือนมอร์แกน ฟรีแมนมากพาชมสถานที่ ค่าผ่านประตูนี้รวมค่าไกด์ไว้ด้วยแล้ว ลุงพาเดินลงไปดูห้องใต้ดินที่ขังทาสไว้ แคบเตี้ยมากๆและมีช่องให้แสงลอดเข้ามานิดเดียว เหมือนคุกมืด เวลาเขาไปจับชาวแอฟริกันมาเพื่อขายเป็นทาสนั้น เขาก็จะเอามาขังรวมกันไว้ในคุกใต้ดินนี้จนกว่าจะถึงเวลาตลาดเปิด ลุงว่าขังทีเป็นร้อยคน ฉันดูแล้วไม่น่าเชื่อว่าคนนับร้อยจะอัดกันเข้าไปได้เลย ทาสที่ถูกขังไม่น่าจะนอนได้ คงจะต้องนั่งอัดๆกัน จะทำธุระห้องน้ำก็ปล่อยกันเละเทะตรงนั้น น่าอนาถใจมาก สมัยก่อนซานซิบาร์เป็นศูนย์กลางการค้าทาสที่ใหญ่มาก ทาสจากทวีปแอฟริกาทั้งหมดจะมาถูกประมูลซื้อขายกันที่นี่ แล้วส่งไปใช้ทำงานในที่ต่างๆ เช่นอเมริกา อาหรับและเปอร์เซียซึ่งเป็นเมืองของสุลต่านผู้ปกครองซานซิบาร์อันห้ามใช้มุสลิมด้วยกันมาเป็นแรงงานทาส และเกาะในมหาสมุทรอินเดียเช่นมอร์ริเชียส รียูเนียนซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นของยุโรปและถูกยุโรปเข้ามากว้านเอาทรัพยากรทางธรรมชาติทั้งใต้ดินและบนดินไป จึงต้องใช้แรงงานทาสนี่แหละเก็บเกี่ยวพืชผล ทาสพวกนี้มีที่ถูกส่งไปไกลถึงเอเชียทีเดียว เรียกว่ายุโรปจะไปกอบโกยทรัพยากรที่เมืองขึ้นไกลแค่ไหนก็ส่งแรงงานทาสจากแอฟริกาไปทำงาน เพิ่งจะมาเลิกทาสกันเพียงร้อยกว่าปีมานี่เอง โดยผู้บุกเบิกต่อต้านคือด็อกเตอร์เดวิด ลิฟวิงสโตน มิชชันนารีชาวสก็อตคนที่ค้นพบน้ำตกวิคตอเรียซึ่งอยู่ระหว่างประเทศแซมเบียกับซิมบับเว เขาใช้เวลาอยู่ในแอฟริกานานหลายปีและไปเสียชีวิตใต้ต้นไม้ระหว่างเดินทางในแอฟริกา ไม้ของต้นไม้นั้นได้นำมาทำเป็นไม้กางเขนอยู่ในโบสถ์ Anglican ซึ่งสร้างอยู่ในบริเวณตลาดทาสนี้ โบสถ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของทัวร์ให้เข้าชมได้ด้วย

zanzibar-stonetown-7zanzibar-stonetown-8สถานที่อีกแห่งที่น่าชมคือ Hamamni Persian Bath เป็นโรงอาบน้ำสาธารณะแห่งแรกของซานซิบาร์ สร้างโดยสุลต่านองค์หนึ่งราวร้อยปีที่แล้ว ตอนนี้ไม่ได้ใช้งานแล้ว เปิดให้ชมได้โดยจ่ายค่าเข้าเล็กน้อย ข้างในก็เหมือนโรงอาบน้ำแบบแขกอาหรับทั่วไปเหมือนเมืองเก่าอื่นๆ คือมีส่วนบ่อแช่น้ำ ห้องอบร้อน ห้องนวดนอนพัก หากใครเคยเห็นโรงอาบน้ำแบบนี้มาแล้วที่ตุรกี อียิปต์ โมร็อคโค หรืออิตาลีก็จะไม่ตื่นเต้นมาก เพราะที่นี่ขนาดเล็กๆและไม่ได้มีการตกแต่งประดับประดาหรูหราอะไร เพียงแต่เป็นสถานที่โบราณไม่เพียงกี่แห่งที่ซานซิบาร์จึงต้องเข้าชมเป็นพิธีกันหน่อย

zanzibar-stairsการเดินลัดเลาะไปตามตรอกในสโตนทาวน์นี้นอกจากจะได้ซึมซับวัฒนธรรมท้องถิ่นเต็มๆแล้ว ถ้าวางแผนดีๆยังได้แวะชิมอาหารเครื่องดื่มในร้านชวนชิมต่างๆที่อยู่ระหว่างเส้นทางเดินด้วย เราได้แวะชิมโยเกิร์ตปั่นเย็นชื่นใจยามบ่ายหลังจากเดินตากแดดจัดมาจากตลาดทาสที่ร้าน Luis Yoghurt Palour ได้แวะนั่งทอดอารมณ์กินอาหารกลางวันที่ร้าน Archipelago ริมหาด กินไปมองลอดใบมะพร้าวชมวิวทะเลซานซิบาร์ไปจากบนระเบียงชั้นสอง ทอดหุ่ยสบายใจชิลล์มากๆ

แต่ที่เราชอบที่สุดจนต้องกลับไปอีกครั้งคือร้าน Mercury’s เป็นร้านอาหารและบาร์ริมน้ำตรงสุดหาดที่เสิร์ฟเครื่องดื่มและค็อกเทลสารพัด ร้านเป็นระเบียงไม้ยื่นออกไปบนหาด หันหน้าไปทางทิศตะวันตก จึงเป็นจุดดื่มยามเย็นเคล้าชมวิวพระอาทิตย์ตกที่ยอดเยี่ยมที่สุด เครื่องดื่มอร่อย วิวโรแมนติกสุดยอด แถมเพลงยังแจ๋วมากๆอีก ชื่อของร้านเมอร์คิวรี่มาจาก เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่นักร้องนำวงควีนผู้เป็นตำนานนั่นเอง ฉันก็เพิ่งรู้นี่แหละว่าเฟรดดี้เกิดและโตที่ซานซิบาร์ แต่ช่วงเกิดปฏิวัติพ่อแม่พาอพยพย้ายออกไปตอนเขาแปดขวบ เขาถูกส่งไปเรียนโรงเรียนประจำที่อินเดียและไปอังกฤษต่อมา เขาไม่เคยกลับไปซานซิบาร์อีกเลย แต่ก็ดูเหมือนซานซิบาร์จะภูมิใจที่เป็นบ้านเกิดของเขามากแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าบ้านที่เขาเคยอยู่คือหลังไหนก็ตาม

zanzibar-rooftop-dinnerแต่มื้อที่พิเศษของเราจริงๆคือดินเนอร์วันเกิดที่ร้านอาหาร Towertop บนดาดฟ้าของโรงแรมฮูรุมซี่ที่เราพัก ที่นี่คือต้นแบบผู้ดำริทำร้านอาหารบนดาดฟ้าตึกสูงให้กินไปชมวิวเมืองเก่าสโตนทาวน์ไปอย่างถึงรสชาติบรรยากาศ จนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ความหรูโรแมนติกสุดๆของมื้อเย็นในสโตนทาวน์ที่ทุกโรงแรมต้องแข่งกัน ช่วงไฮซีซันต้องจองโต๊ะล่วงหน้า แต่ตอนเราไปโชคดีคนน้อย จึงได้นั่งดริ๊งค์ก่อนที่เบาะวางพื้นและโต๊ะเตี้ยแบบสวาฮิลี จิบค็อกเทลแกล้มอาหารเรียกน้ำย่อยพิเศษของโรงแรม อร่อยและชิลมากๆ ไฟนวลสลัวๆทำให้เห็นจุดไฟสีทองที่ลอดออกมาจากตึกเก่าบ้านเรือนในสโตนทาวน์ผ่านม่านสีดำกำมะหยี่ของราตรีอย่างพร่างพราวชัด เงียบ สงบ เย็นลมทะเลพัดผ่านผิวเบาๆ รูปรสกลิ่นเสียงและสัมผัสจากคนนั่งใกล้ๆ โรแมนติกร้ายครบทุกประสาทสัมผัส เป็นใครก็หัวใจเต้นผิดจังหวะกระเจิดกระเจิงได้ไม่ยาก กระนั้นมื้อดินเนอร์ที่สั่งล่วงหน้าไว้เป็นพิเศษด้วยเมนูล็อบสเตอร์อันขึ้นชื่อของโรงแรมก็ทำให้เราต้องตัดใจลุกย้ายไปนั่งที่โต๊ะดินเนอร์ใต้แสงเทียนที่ยังคงความพิเศษไว้ไม่แพ้กัน มุมนี้เห็นสโตนทาวน์ชัดขึ้นไปอีก ดาดฟ้ายอดตึกเก่าไม่ใหญ่ไม่โตจึงทำให้เห็นได้รอบตัวทุกองศา เป็นวิวที่พิเศษสุดยอดจนไม่รู้ว่าอาหารหรือบรรยากาศจะเป็นผู้ชนะในมื้อพิเศษนี้

zanzibar-shooting-star-baoอิ่มอารมณ์กับความเข้มข้นของเครื่องเทศวัฒนธรรมที่สโตนทาวน์ เด็กมุสลิมท่องสวดคัมภีร์กุรอ่านเสียงดังจากโรงเรียน ภาพผู้ชายมุสลิมต่างวัยในหมวกสีขาวกราบสวดมนต์ในมัสยิด ผู้หญิงในชุดคลุมสีดำปิดยาวทั้งตัวดูแลบ้านอย่างเรียบร้อย ชายมุสลิมแก่นั่งเล่นหมากกระดาน “เบา” (Bao) หน้าบ้าน ภาพเด็กๆเดินลัดเลาะตามซอกซอยที่ปูด้วยหินในระหว่างตึกปูนเก่าไปโรงเรียน เราขอเปลี่ยนบรรยากาศไปซึมซับและนั่งๆนอนๆบนชายหาดอันขึ้นชื่อของซานซิบาร์ที่ Shooting Star Lodge โรงแรมเล็กเก๋โรแมนติกที่ซ่อนตัวอยู่บนหาด Kiwengwa ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ จากสโตนทาวน์นั่งรถไปชั่วโมงกว่าๆ เราใช้วิธีเรียกแท็กซี่ที่มีอยู่มากมายในเมืองไป วันก่อนเดินเล่นผ่านคนขับแท็กซี่ยินพิงรถอยู่แล้วร้องเชิญชวน เราเห็นท่าทางดูดีไว้ใจได้เลยถามราคาต่อรองไว้ล่วงหน้า เขารับปากแล้วก็มารอเราที่โรงแรมจริงๆ ระหว่างทางก็คุยเกี่ยวกับชีวิตที่ซานซิบาร์ให้ฟัง เห็นได้เรื่องได้ราวดีเราก็เลยสั่งให้เขากลับมารับกลับไปขึ้นเครื่องอีกสามวันข้างหน้า เป็นอีกหนึ่งครั้งที่พิสูจน์ว่าสูตรการผูกมิตรกับคนขับแท็กซี่ท้องถิ่นนี้ ถ้าเลือกให้ดีก็จะได้ความสะดวกในราคาไม่แพงแถมความรู้แบบหาจากที่อื่นไม่ได้

โรงแรมดาวตกหรือชู้ตติ้งสตาร์นี้อยู่บนหาดเงียบๆ ถึงแม้หาดที่ยาวหลายกิโลนี้จะมีโรงแรมเรียงกันสลับกับบ้านตากอากาศน่ารักๆตลอดหาด แต่ก็เงียบเชียบเป็นส่วนตัวมาก เพราะตัวโรงแรมอยู่บนหน้าผา จากสระว่ายน้ำแบบอินฟินิตี้มองออกมาน้ำขอบสระกลืนไปกับน้ำทะเลเบื้องล่าง เวลาน้ำลงจึงจะเห็นหาดสีน้ำตาลกว้างผืนใหญ่ ถ้าจะเดินเล่นบนหาดก็ต้องไต่บันไดลงมาจากผาด้านบน เราตั้งใจใช้เวลานั่งๆนอนๆอยู่ที่โรงแรมทั้งสามวัน กะดื่มด่ำทะเลสายลมและแสงแดดที่ขึ้นชื่อของซานซิบาร์ให้สะใจ อาหารทุกมื้อเหมารวมมาเรียบร้อย เพราะครัวของที่นี่ขึ้นชื่ออยู่แล้วขนาดที่คนที่ไม่ได้พักก็ยังต้องมากิน แต่ละมื้อจะเปลี่ยนเมนูไปเรื่อยๆแล้วแต่พ่อครัว มีให้เลือกมื้อละสามสี่อย่าง ไม่มีเมนูประจำ มีบาร์ที่ให้เลือกสั่งสารพัดดริงค์ โต๊ะอาหารและที่นั่งดริงค์อยู่ในสวนร่มรื่นที่ถมพื้นด้วยทราย ติดกับสระว่ายน้ำนั่นเอง วันๆจึงไม่ต้องเดินไปไหนไกล กลิ้งเกลือกอยู่บนทรายริมสระ กระโดดลงน้ำ เดินมากินๆๆๆ กลับไปนอนปิ้งต่อบนเตียงอาบแดด อ่านหนังสือแกล้มดริ๊งค์เย็นๆชื่นใจ มีดริ๊งค์ก่อนดินเนอร์ ดริ๊งค์ระหว่างดินเนอร์ ดริ๊งค์หลังดินเนอร์ก่อนนอน มีความสุขมากๆ

zanzibar-shooting-star-pool

zanzibar-dhow-manzanzibar-dhow1ที่พิเศษเป็นไฮไลท์คือเย็นวันแรก ฉันสั่งโรงแรมให้ว่าจ้างชาวประมงเอาเรือโดว์มารับเราไปแล่นใบล้อลมยามเย็นชมพระอาทิตย์ตกกัน ห้าโมงเย็นพนักงานโรงแรมมาเรียกว่าเรือมาแล้ว มองลงไปในทะเลเห็นเรือโดว์ค่อยๆแล่นใบเข้ามาเกยตื้นช้าๆ เราเดินลงบันไดไม้ลัดเลาะสวนลงไปโดยมีพนักงานอุ้มถังแชมเปญแช่เย็นเจี๊ยบตามลงมาด้วย ไต๋กงเรือเป็นคุณลุงชาวประมงแก่ๆผิวดำ สวมชุดยาวกรอมเท้าแบบมุสลิมและโพกหัวด้วยผ้าผืนโต มีผู้ช่วยหนุ่มไม่น้อยมาด้วยหนึ่งคน เรือโดว์นี้แคบมากเพราะทำโดยขุดลำต้นไม้ทั้งต้นออก เกลาท้องเรือให้แหลม และถ่วงสมดุลด้วยขาที่ยื่นออกไปเหมือนทุ่นพยุงทางด้านหนึ่งของเรือ เป็นลักษณะเดียวกับเรือของชาวเกาะในแปซิฟิกใต้และฮาวาย ใบเรือเป็นรูปสามเหลี่ยมทำจากผ้าสีมอมๆและดูกระรุ่งกระริ่งแต่เก๋าย้อนยุคโรแมนติกเป็นบ้า เรากระโดดขึ้นเรือ ไม่มีที่ให้นั่งต้องยืนเท่านั้น ฉันยืนแล้วกราบเรือสูงเกือบถึงเอว จึงเอาก้นอิงพักกับกราบเรือได้พอดี จับมั่นแล้วลุงก็ชักใบเรือหันหน้าออกทะเล

เมื่อปรับตัวให้ชินกับเรือที่โคลงเคลงไปมาได้แล้วเราก็เปิดฝาจุกแชมเปญ ป๊อก! ฟองฟู่พรายฟูล้นออกมา ฉันยื่นแก้วแชมเปญออกไปรับ ฟองละเอียดของแชมเปญพราวพรายล้อแสงแดดสีส้มสุดท้ายของวัน ลมทะเลพัดซู่ให้ปอยผมปลิวมาประใบหน้า หอมกลิ่นมหาสมุทรอินเดีย แก้วชนกริ๊กเป็นสัญลักษณ์ฉลองวันพิเศษที่ได้บรรยากาศพิเศษเกินคาดหวัง แชมเปญเนื้อดีเย็นฉ่ำไหลผ่านริมฝีปากอย่างนุ่มนวลลงสู่ลำคอชื่นใจ ฉันฉีกยิ้มกว้างอย่างไม่อาจเก็บไว้ได้ หัวใจเปลี่ยนจังหวะเต้น ก็อะไรจะสุขไปกว่านี้ได้อีก ซานซิบาร์หวานที่สุดก็ตรงรสแชมเปญในเรือโดว์ใต้หลังคาฟ้าสีส้มยามอาทิตย์อัสดงนี่เองzanzibar-shooting-star-sunset-dhow-1 zanzibar-shooting-star-sunset-dhow-2

ในที่สุดฉันก็ได้มาคลายปมปริศนาของเกาะที่ได้ยินเพียงแค่ชื่อก็หลงงงงวยแล้ว สโตนทาวน์มรดกโลกมีสเน่ห์อยู่ที่วิถีชีวิตของผู้คนที่ยังคงไว้ราวกับวิวัฒนาการของโลกภายนอกไม่มีความหมาย ฉันรักภาพเด็กๆวิ่งแข่งสลับกันกระโดดลงน้ำทะเลยามพระอาทิตย์ตก และภาพกลุ่มวัยรุ่นฝึกคาโปเอร่าหรือศิลปะป้องกันตัวของบราซิลบนหาดทรายในยามเย็น รักแสงสีส้มที่ขอบฟ้าและพระอาทิตย์ดวงโตที่แตะน้ำพร้อมกับเรือโดว์ที่ค่อยๆแล่นเข้ามาทับเป็นฉากหน้า นั่นคือภาพเวลาเลิกงานและหลังโรงเรียน มันคือวิถีชีวิตประจำวันที่มีชีพจรไม่เหมือนที่อื่นในโลกที่ฉันเคยไปเยือน

คงเพราะความไม่เหมือนใครของซานซิบาร์มีมากกว่าชื่อที่เย้ายวน สิ่งธรรมดาเล็กๆน้อยๆหลายอย่างที่มาอยู่รวมกันหลอมให้ซานซิบาร์แตกต่าง และน่าไปเยือนเพื่อไขความน่าฉงนสักครั้งหนึ่งในชีวิต ฉันสรุปได้ว่า ซานซิบาร์ต่างเพราะมีจังหวะชีพจรการเต้นที่ไม่เหมือนที่ใด รวมทั้งหัวใจของฉันเองzanzibar-stonetown-sunset

zanzibar-hurumzi-windowzanzibar-shooting-star-beach-chairsWhere to Stay

236 Hurumzi Tel: +255 777-423266 www.236hurumzi.com

Emerson Spice Tel: +255 775-046395 reservation@emersonspice.com

Zanzibar Serena Inn Tel: +255 242-232306 www.serenahotels.com

Shooting Star Lodge Tel: +255 777-414166 www.shootingstarlodge.com


Where & What to Eat

Mercury’s บาร์บนระเบียงเหนือหาดทราย จะแวะกินมื้อกลางวันหรือเย็นก็ได้ แต่ดริ๊งค์ก่อนมื้อเย็นหรือก่อนนอนเคล้าเพลงของเฟรดดี้ เมอร์คิวรี่จากวงควีนที่นี่แจ๋วสุด Mizingani Road Tel 024 223 3076

Towertop Restaurant ร้านอาหารบนดาดฟ้าโรงแรม 236 Hurumzi ผู้ริเริ่มแนวคิดอาหารอร่อยแกล้มวิวสโตนทาวน์ในมุมสูงทาไฟสีทองวิบวับสุดโรแมนติกที่ทุกโรงแรมต้องทำตาม

Archepelago นั่งบนระเบียงชั้นบนเปิดโล่งสบาย มองลอดใบมะพร้าวออกชมทะเลและเรือที่ทอดสมอได้บรรยากาศแกล้มแกงกะหรี่แบบพื้นเมืองเหมาะกับมื้อกลางวันมาก Shangani St. Tel 024 223 5668

Luis Yoghurt Palour แวะกินโยเกิร์ตปั่นเย็นใจหรือแลสซี่หลังเดินชมสโตนทาวน์จนเหนื่อย Gizenga St.

Forodhani Gardens แผงอาหารแนวตลาดโต้รุ่งยามเย็น มีทั้งบาร์บีคิวสารพัดเนื้อและอาหารทะเล พิซซ่าซานซิบาร์ และอื่นๆมากมาย ไม่อร่อยมากแต่ได้บรรยากาศ ถือว่าถูกถ้าเทียบกับร้านอาหาร แต่ถือว่าแพงถ้าโดนแขกหลอก!

zanzibar-stonetown-25zanzibar-stonetown-musicWhat to See & Do

  • Spice Tour ใช้เวลาห้าชั่วโมงเดินชมไร่ปลูกเครื่องเทศต่างๆ สามารถซื้อทัวร์ได้จากบริษัททัวร์ในเมืองทั่วไ
  • การเล่นดนตรีพื้นเมืองที่เรียกว่า Taarab Music เป็นดนตรีที่ผสมผสานความเป็นแอฟริกัน มุสลิมและอินเดียเข้าไว้ด้วยกัน ทุกวันอังคารและศุกร์ตอนทุ่มตรงจะมีการแสดงที่ป้อมเมืองเก่า หรือถ้าอยากฟังพร้อมนั่งจิบเครื่องสบายๆก็ไปที่ Zanzibar Serena Inn Tel 024 223 2306 ทุกวันอังคารและศุกร์เช่นกันตอนหกโมงครึ่งถึงทุ่มตรง
  • เข้าสปาและฮัมมัมแบบอราบิค ให้ป้าแขกขัดตัวแรงๆให้แจ่มแล้วอบเซาน่า มีหลายแห่งในสโตนทาวน์เช่นร้าน Mrembo
  • นั่งเรือโดว์แล่นใบยามเย็นพระอาทิตย์ตก โรแมนติกอย่าบอกใคร จะเช่าที่ท่าเรือในเมืองสโตนทาวน์ก็ได้ หรือถ้าไปที่หาดไกลเมืองออกไปก็ให้โรงแรมจัดหาให้
  • ห้ามพลาดไปดูเด็กๆผู้ชายมากระโดดน้ำเล่นกันพร้อมชมพระอาทิตย์ตกดินที่ท่าน้ำที่ Forodhani Gardens

zanzibar-stonetown-shopWhat to Buy

ร้านค้าของที่ระลึกในสโนทาวน์มีมากมาย พวกเครื่องหัตถกรรมงานไม้ ภาพวาดแบบแอฟริกัน ผ้ามัดย้อมแบบเกาะในมหาสมุทรอินเดีย เอามาใช้เป็นโสร่งเดินชายหาดหรือจะเอามาเป็นผ้าปูโต๊ะปิกนิคบาร์บีคิวก็สดใสสมบรรยากาศดี ที่ฉันชอบอีกอย่างคือเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็กแต่งบ้าน ทำจากไม้เนื้อหนาท้องถิ่นแกะฝังทองเหลืองเป็นลวดลายแบบแขกๆ สวยงามและราคาถูกมากๆ ถ้าขี้เกียจแบกขึ้นเครื่องเขาก็ส่งให้ได้ทั่วโลก


เกร็ด

– ถึงซานซิบาร์จะดูเรียบง่ายโรแมนติก แต่ผู้คนกลับไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไร เวลาเดินเล่นในสโตนทาวน์ยามวิกาลต้องระวังให้ดี อย่าพกเงินหรือของมีค่าให้ล่อตาล่อใจ แม้แต่บนชายหาดที่ดูจะเรื่อยๆมาเรียงๆก็ต้องระวังโดนคนมาตื๊อขายของและแสดงอาการหยาบคายดุดัน ว่ากันว่าผู้หญิงต้องระวังตัวเป็นพิเศษที่จะถูกลวนลามทั้งทางสายตาและร่างกาย ตอนที่เรานั่งกินอาหารที่สแน็คบาร์ที่ Forodhani Gardens มีเด็กวัยรุ่นอยู่ดีๆก็เดินมากระชากเก้าอี้ที่เรานั่งอยู่ และมีคนเดินมาด่าเราว่าเป็นคนผิวขาว เหมือนเขาไม่ชอบเห็นคนฝรั่ง แต่ถ้าบางคนเขาอยากจะแสดงความเป็นมิตร เวลาเดินผ่านเขาจะทักว่า “จัมโบ้” (Jambo) ก็ตอบเขาไปแบบเดียวกัน เพราะถ้าไม่ตอบบางทีเขาก็ทำตาขวางใส่ว่าเราไม่รู้จักทำตัวให้เป็นมิตรกับคนพื้นเมือง

– ซานซิบาร์เป็นเมืองมุสลิม ดังนั้นนักท่องเที่ยวควรแต่งกายไม่ประเจิดประเจ้อเกินไปโดยเฉพาะผู้หญิง หลายคนเตือนว่าห้ามใส่แขนกุดหรือขาสั้น แต่ฉันก็เห็นนักท่องเที่ยวแต่งกันได้ เพียงอย่าให้โป๊มากก็แล้วกัน

– ซานซิบาร์ใช้เงินสกุล Tanzanian Shilling (TSh) ควรมีเงินสดเอาไว้ให้พอใช้จ่ายจุกจิกและทิป พกดอลลาร์ติดไว้ก็สะดวกในการใช้ดี

– มีข่าวมาตลอดว่าซานซิบาร์อยากแยกตัวเป็นเอกเทศจากประเทศแทนซาเนีย และอาจเกิดขึ้นได้ในไม่ช้า การเมืองเป็นเรื่องอ่อนไหว ควรระวังในการพูดถึง


ตีพิมพ์ในนิตยสาร Anywhere 2012

NO COMMENTS