กลิ่นซิการ์มวนโตที่กรุ่นอวลอยู่ในไออากาศทุกตรอกซอกถนน  โมฮิโต้ ไดคิริ และคิวบันลิเบร้ที่หวานลิ้นด้วยรัมบนเคาน์เตอร์ในบาร์ทุกหัวมุมตึก จังหวะซาลซ่าที่ชวนให้ขยับแข้งขาตามก้องกังวานอยู่ทุกก้าวทุกเวลาที่ย่างผ่านไป  รถอเมริกันคันโตยุคปี 50’s แล่นผ่านตึกโคโลเนียลสีหวานที่กะเทาะกร่อนในเขตเมืองเก่า Habana Vieja  เหมือนฉากคลาสสิกของอดีตที่ถูกจัดแต่งขึ้นในโรงถ่ายภาพยนต์  หากแต่นี่คือบรรยากาศและลมหายใจในความจริงของคิวบาปี 2010  ที่หยุดเวลาไว้ในเช่นนี้มาตลอดเวลา 50 ปีไม่ว่าโลกภายนอกจะเปลี่ยนไปเช่นไร  ประหนึ่งดังว่า  ฮาวาน่าถูกแช่แข็งเก็บไว้ในห้วงของกาลเวลา

จุดหมายของการเดินทางทุกแห่งในโลก  ล้วนมีปัจจัยของเวลาเข้ามาร่วมสร้างความประทับใจ  สถานที่แห่งเดียวกันให้อารมณ์ที่เปลี่ยนไปในฤดูที่แตกต่าง  สถานที่บางแห่งต้องกลับไปเยือนทุกๆสิบปีเพื่อชื่นชมความผันเปลี่ยน  หาก “เวลา”สำหรับการไปเยือนคิวบาและฮาวาน่านั้น  มีความสำคัญลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้น  ณ.วันนี้  ต้นปี 2010  ที่เพิ่งจะครบรอบ 50 ปีของการปฏิวัติคิวบามาหมาดๆ  ฟิเดล คาสโตรย่างเข้าบั้นปลายชีวิตกว่า 80 ปีด้วยสุขภาพที่เสื่อมชรา  ประธานาธิบดีบารัค โอบามาต้องการปิดค่ายทหารที่ Guantanamo ในคิวบาซึ่งสหรัฐยึดทำเลมานาน  ใครจะรู้… อีกไม่นานหากคิวบาผลัดแผ่นดิน  หากสหรัฐยกเลิกการคว่ำบาตรต่อคิวบา  ความเป็นคอมมิวนิสต์ที่หล่อหลอมเสน่ห์ให้คิวบาอย่างไม่มีใครเหมือนนี้จะเปลี่ยนไปเป็นเช่นไร  บรรยากาศย้อนอดีตอันเย้ายวนจะถูกกระเทาะออกจากเปลือกน้ำแข็งที่หยุดเวลาของคิวบาไว้หรือเปล่า

ด้วยเช่นนั้น… ฉันจึงไม่อาจรอให้วันเวลาผันผ่าน  เก็บกระเป๋ามุ่งหน้าสู่ฮาวาน่าในสัปดาห์แรกของปี  ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่ว่า  ฉันจะต้องไปเยือนคิวบาให้ได้ก่อนตาย  แต่เพราะว่า…ต้องไปก่อนฟิเดล คาสโตรตายต่างหาก!

เจ็ดวันเต็มที่คิวบาฉันขอเจาะลึกที่ฮาวาน่าและขอบเมืองใกล้เคียงเท่านั้น  กะว่ามีเวลาชิลล์ๆกับซิการ์และโมฮิโต้ให้หนำใจ  ที่พักต้องขออยู่ใจกลางเมืองเก่าขึ้นทะเบียนมรดกโลก Habana Vieja หรือ Old Havana  และเจาะจงเลือกโรงแรมในตึกเก่าเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ที่ตกแต่งแบบอนุรักษ์ความเป็นโคโลเนียลไว้ทุกประการ  โรงแรมแบบที่ว่านี้มักมีห้องไม่มากเพราะเอาวังหรือแมนชั่นเก่ามาดัดแปลง  บริการใช้สอยส่วนกลางจึงไม่ฟุ่มเฟือยฟู่ฟ่า  ประกอบกับความจริงที่ว่าโรงแรมและร้านค้าทั้งหลายเป็นของรัฐบาลหมด  พนักงานกินเงินเดือนรัฐ  จึงให้ทำใจไว้เลยว่า  บริการทั้งหลายในคิวบาจะไม่ได้มาตรฐานโลกทั่วไป

มาลงตัวที่โรงแรมสองแห่งซึ่งขอเปลี่ยนเล่นเพื่อความไม่จำเจ  แห่งแรกคือ Hotel Palacio San Miguel เป็นวังเก่า  อยู่ขอบเมืองเก่าเปิดโล่งรับวิวทะเล  ส่วนโรงแรมที่สองคือ Santa Isabel อยู่ใจกลางของเมืองเก่าอย่างหาโลเกชั่นดีกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว  เพราะอยู่หน้าลาน Plaza de Armas พอดี  พอก้าวออกจากโรงแรมก็เหยียบบนถนน Obispo ซึ่งเป็นถนนคนเดินสายคลาสสิกสำหรับการชมบ้านเรือนตึกเก่าโคโลเนียลแบบฮาวาน่า  เป็นโรงแรมที่ดีที่สุดในเมืองเก่า  ตกแต่งแบบโคโลเนียล  ถูกใจคนรักของเก่าอย่างฉัน  และมีระเบียงส่วนตัวที่เปิดออกชมวิวใจกลางเมืองฮาวาน่าได้แบบอัพโคลสแอนด์เพอร์เซอร์นัล  คนดังทั้งหลายต้องมาพักกันที่นี่  เช่นนาโอมิ แคมป์เบล  สติง  รวมทั้งอดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ที่นอกจากจะมีรูปแล้วยังมีจดหมายขอบคุณโรงแรมที่ใส่กรอบติดไว้ด้วย  เอ๊ะ…ไหนว่าอเมริกาห้ามคนอเมริกันเข้ามาคิวบายังไงล่ะ

การเที่ยวในฮาวาน่าที่ดีที่สุดนี้คือเดิน  จากย่านเมืองเก่าตลอดไป Centro นั้นเดินได้สบายมาก  หากจะออกไปชมย่านไกลออกไปจึงค่อยเรียกแท็กซี่ซึ่งราคาไม่แพง  หรือจะนั่ง Coco Taxi รถรับจ้างสามล้อที่คล้ายกะลามะพร้าวสีเหลืองอ๋อยก็ได้รสชาติแปลกดี

ฉันเริ่มเที่ยวจุดแรกแบบนักท่องเที่ยวตามตำรามากๆ  คือ Capitolio หรือ The Capital ตึกโดมรัฐสภาสไตล์นีโอคลาสสิกผสมอาร์ตเดโคที่สร้างเลียนแบบในกรุงวอชิงตันดีซี  ปัจจุบันเป็นที่ทำการกระทรวงวิทยาศาสตร์  ยอดโดมที่สูงจากพื้นถึง 300 ฟุตนี้เคยเป็นจุดที่สูงที่สุดของเมืองฮาวาน่า  เป็นจุดที่ดีในการเริ่มต้นชมเมืองเพราะนอกจากจะล้อมรอบไปด้วยสถานที่สำคัญทั้งหลายแล้ว  ตรงด้านหน้านี้พอมองไปรอบๆก็ได้เห็นวิวฮาวาน่าแบบคลาสสิกสุดๆ  ตึกเก่าโบราณที่ทรุดโทรมและปิดตายหากเปี่ยมด้วยร่องรอยของความอลังการในอดีต  ติดกันคือ Gran Teatro dela Habana โรงโอเปร่าแห่งชาติที่ออกแบบอย่างโก้สวยโดยสถาปนิกเบลเยียม  The Cinema Peyret โรงภาพยนต์แห่งแรกของคิวบาอายุร้อยกว่าปี  รถอเมริกันโบราณอายุห้าสิบปีสีสดใส  รถเทียมม้าลากให้นักท่องเที่ยวชมเมือง  ลานกว้าง Parque Central ประดับต้นปาล์มมีอนุสาวรีย์ Jose Marti วีรบุรุษผู้ต่อสู้เพื่อปลอดปล่อยคิวบาออกจากการปกครองของสเปนจนตายในสนามรบ  วิวณ.ตรงจุดนี้แหละ  คือบทสรุปของความคลาสสิกแบบสุดๆของฮาวาน่าที่ยั่วยวนชวนใจให้นักท่องเที่ยวไหลหลั่งมาถึงปีละสองล้านคน  คิดแล้วก็ขำดี  การที่ถูก“สั่งห้าม”ข้องเกี่ยวจากสหรัฐกลับทำให้คิวบามีบุคลิกที่ย้อนยุคเฉพาะตัว  และกลายเป็นคลาสสิกเซ็กซี่ไม่เหมือนใครเพราะไม่ก้าวไกลไฮเทคไปอย่างประเทศอื่นนี้

เพียงก้าวเข้าไปด้านในของรัฐสภาก็ประจันหน้ากับ Statue of the Republic รูปปั้นเทพีที่สั่งหล่อและปิดทองในกรุงโรมกับความสูงถึง 56 ฟุต  ตรงกลางโถงใต้โดมเป๊ะมีเพชรเม็ดเป้ง 25  กะรัตฝังอยู่ในพื้น  อันที่จริงเป็นเพชรปลอม  ของจริงไม่กล้าเอามาฝังไว้โจ้งๆแบบนี้เพราะเคยโดนขโมยมาแล้ว  ที่น่าประหลาดก็คือหลังจากถูกขโมยหายไปวันหนึ่งอยู่ดีๆก็มาปรากฏอยู่บนโต๊ะประธานาธิบดี  ทางขวามือเป็นโถงทอดยาวเหยียดมีเสาไฟปิดทองเรียงแถวสองข้างชื่อ Salon de los Pasos Perdidos หรือ “โถงแห่งก้าวย่างที่จางหาย” เพราะมีเสียงสะท้อนที่ก้องประหลาดเวลาเดินผ่าน  จากนั้นเดินชมไปให้ทั่วตึก  บันไดทางเดินเฉพาะของวุฒิสมาชิก  โถงทางเดินปูด้วยหินอ่อนอิตาลีอันโอ่อ่า  ห้องสมุดไม้โอ้คสีเข้มมีหนังสือเรียงจรดเพดานสูง  ห้องประชุมสภามีที่นั่งเป็นแถวโค้งลดหลั่นกันคล้ายที่วอชิงตันดีซี  ตรงทางเดินรอบตึกชั้นบนนั้น…ฉันชะโงกมองออกไปนอกหน้าต่างไม้หนาหนักยาวจรดพื้นที่เปิดแง้มอยู่  เหมือนแอบมองเห็นฮาวาน่าจากหลังม่าน  ตึกปูนสีกะเทาะประดับเหล็กดัดอ่อนช้อยและหน้าต่างบานเกล็ดไม้  ประหนึ่งยุโรปที่เก่าร้าง  ลมหายใจของอดีตอบอวลและตระกองกอดผู้คนที่เดินบ้างยืนพ่นควันซิการ์ช้าๆอยู่ริมทางบ้าง  ราวหยุดเวลาไว้กับที่ตลอดกาล

ข้ามถนนจากรัฐสภามาร้านขายซิการ์ที่โด่งดัง Partagas ในตึกปูนสีแดงขาวสุดคลาสสิก  ตั้งใจว่าจะเข้าไปชมกระบวนการผลิตเสียหน่อย  เห็นในสารคดีภาพคนงานนั่งมวนใบยาสูบบนโต๊ะเหมือนนักเรียน  เวลาเข้าออกงานเป็นเวลาเป๊ะๆ  เช้ามาก็เข้าแถวไปเบิกใบยา  น่าเสียดายที่พอเข้าไปกลับพบว่าช่วงเดือนมกราคมเป็นช่วงที่โรงงานปิด  จึงไม่มีทัวร์โรงงานให้ชม  มีแต่ร้านขายซิการ์สุดคลาสสิกที่มีบาร์ให้นั่งจิบรัมและสูบซิการ์ไปด้วย  ซิการ์ดีๆในกล่องไม้จันท์หอมกล่องละเป็นหมื่น  ยั่วยวนใจให้ซื้อมาก

เดินย้อนกลับมาที่โรงละครโอเปร่า  นอกจากจะมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามมากแล้ว  ยังมีความสำคัญอันดับต้นๆของโลกอีกด้วย  นักดนตรีนักแสดงดังๆในอดีตเคยมาแสดงที่นี่กันมากมาย  เช่นซาร่า เบิร์นฮาร์ด  ในปี 1959 นักบัลเล่ต์ระดับปรมาจารย์ Alicia Alfonso ผู้เป็นตำนานของคิวบาได้มาตั้งคณะบัลเล่ต์แห่งชาติและเปิดโรงเรียนสอนบัลเล่ต์ที่นี่มาจนกระทั่งทุกวันนี้  ฉันตั้งใจจะมาดูบัลเล่ต์ที่ฮาวาน่าเป็นพิเศษ  เพราะมีชื่อเสียงมากๆ  ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดของโลกทีเดียว  ช่วงนี้เป็นฤดูบัลเล่ต์พอดี  และกำลังมีการแสดงเรื่อง The Nut Cracker ได้การละทีนี้  จึงจัดการจองตั๋วไว้เลย

ข้างโรงโอเปร่านี้มีตรอกคนเดินเล็กๆชื่อ Calle San Rafael หรือเรียกเล่นๆว่า Boulevard สมัยก่อนยุคปฏิวัติถือเป็นคนนสายหรูที่มีร้านรวงแพงๆของเมืองตั้งรวมอยู่  วันนี้สองข้างทางยังมีร้านค้าเรียงรายอยู่แต่ขอโทษ… มันไม่ใช่ร้านหรูอย่างเมื่อก่อนหากแต่เป็นร้านค้าบริการประชาชนของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ไปแล้ว  คนที่เดินตามถนนส่วนมากเป็นคนพื้นเมือง  มีร้านขายพิซซ่าหลายร้านที่ให้ยืนเข้าคิวสั่งหน้าร้านแล้วถือไปกิน  คนเข้าแถวกันยาวมากๆเพราะเป็นเวลามื้อกลางวันพอดี  ฉันอดสงสัยไม่ได้ว่ามันจะน่าอร่อยสักแค่ไหนเลยเกร่เข้าไปดู  ปรากฏว่าเห็นที่คนเขาเดินถือออกมานั้นเป็นแป้งขาวๆละเลงหน้าด้วยซอสสีแดงแปร๋นเหมือนน้ำเต้าหู้ยี้ในเย็นตาโฟ  ไม่มีความน่ากินเลย  เห็นป้ายราคาที่ขายให้คนคิวบันประมาณสิบบาทต่อชิ้น  นับว่าถูกเพราะรัฐสนับสนุนราคา  ร้านค้าร้านอาหารที่นี่แบ่งชัดเจนระหว่างคนคิวบันกับนักท่องเที่ยว  ราคาก็ผิดกัน  ร้านที่ขายนักท่องเที่ยวนั้นไม่ห้ามให้คนคิวบันซื้อ  แต่เขาก็ไม่ซื้อเพราะแพงจนหมดปัญญา  เงินเดือนคนที่นี่น้อยมากๆจนน่าตกใจ  ทั้งครอบครัวอาจมีรายได้แค่พันบาทต่อดือน  คนขับแท็กซี่มีรายได้มากกว่าหมอ  เพราะได้ทิปจากนักท่องเที่ยว  แต่รัฐก็สนับสนุนให้ของกินของใช้ฟรีหลายอย่าง  เวลาคนเขาจะไปซื้อไข่หรือนมหรือข้าว  ที่ร้านจะต้องจดรายละเอียดไว้เป็นบัญชี  ว่ากันว่า  ทุกคนมีประวัติว่าตลอดชีวิตกินนมกินไข่ไปเท่าไร

ส่วนร้านขายของที่มีอยู่ตลอดสายถนนนั้น  มองเข้าไปแล้วก็ใจหาย  มันช่างโล่งโจ้งหงอยเหงา  ห้องสี่เหลี่ยมมีเสื้อผ้าแขวนไว้แห้งๆสามสี่ตัวตรงมุม  แต่ก็เห็นคนเขาเข้าไปเลือกดูกันเป็นปกติ

เดินย้อนกลับออกมาที่ปากตรอกติดกับโรงโอเปร่าคือโรงแรม Inglaterra ซึ่งขึ้นชื่อว่าต้องขึ้นไปนั่งจิบเครื่องดื่มประจำชาติที่บนระเบียงดาดฟ้าเพราะมีวิวที่เห็นจุดสำคัญทั้งหมดใจกลางเมืองฮาวาน่า  แต่ฉันขอกินข้าวกลางวันง่ายๆที่หมู่โต๊ะด้านหน้าโรงแรมติดถนนนี่ดีกว่า  มีนักดนตรีคิวบันเล่นดนตรีสดครึกครื้นกล่อมระหว่างกินและได้ดูคนเดินไปมาด้วย  นักท่องเที่ยวนั่งกันเต็มทุกโต๊ะ  ชาติที่มีสัมพันธ์อันดีกับคิวบาและมาเที่ยวกันมากที่สุดคือแคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศสและสเปน  แต่ไม่ว่าใครจะเข้ามาคิวบารัฐบาลก็จะไม่ประทับตราในพาสปอร์ต  วีซ่าคิวบาเป็นกระดาษเย็บติดซึ่งพอขาออกจากประเทศก็จะถูกดึงออกทิ้งไปไม่เหลือร่องรอย  เพราะหากพาสปอร์ตเล่มไหนมีตราประทับคิวบา  สหรัฐจะไม่ออกวีซ่าให้เข้าประเทศ  แต่เชื่อหรือไม่ว่าในปีหนึ่งมีคนอเมริกันเข้ามาคิวบาหลายแสนคนโดยผ่านเข้ามาทางประเทศอื่น

ออกเดินชมเมืองต่อ  Paseo del Prado เป็นถนนให้คนเดินตรงกลางระหว่างถนนที่รถแล่นสวนกัน  ต้นไม้ใหญ่ครึ้มขนาบสองข้างทาง  และมีม้านั่งหินอ่อนสลับเป็นระยะตลอด  เสาไฟโคมสวยคลาสสิกเรียงเป็นแถว  เก๋ไม่เหมือนเมืองไหน  โดยเฉพาะตึกตรงหัวมุมถนน Virtudes ซึ่งสวยงามไม่เหมือนใครเพราะเป็นสถาปัตยกรรมแบบแขกมัวร์แบบทางตอนใต้ของสเปน  และที่หัวถนนมีรูปหล่อสิงโตทองเหลืองอยู่แปดตัวอันเป็นสัญลักษณ์ของฮาวาน่า  นับเป็นถนนสายที่ไม่ควรพลาดมาเดินเล่นเก็บอารมณ์ฮาวาน่าของแท้อย่างยิ่ง

จากถนนปราโดเลี้ยวออกผ่านโรงงานซิการ์ La Corona ปรากฏว่าปิดอีกเช่นกัน  ตลอดทางที่เดินเล่นทุกตรอกซอกถนนจะมีคนคิวบายิ้มแย้มเข้ามาทักอยู่เรื่อยว่าจะซื้อซิการ์ไหม  แล้วแอบเปิดด้านในเสื้อกั๊กให้ดูซิการ์ที่เสียบไว้  ซิการ์พวกนี้เป็นของที่ครอบครัวเขาทำเองซึ่งรัฐจะอนุญาตให้เก็บไว้สูบบริโภคเองได้ส่วนหนึ่ง  แต่คนพวกนี้ก็แอบเอามาขายกันเป็นของไม่ถูกกฏหมาย  ไม่มีตรายี่ห้อและอากร  คุณภาพไม่ได้มาตรฐานแต่ก็ไม่แย่นัก  หากไม่ใช่คอซิการ์  จะซื้อลองสูบเล่นๆไม่มากคิดก็ไม่เลว  ข้อดีอย่างของคนที่นี่คือเวลาเขาเข้ามาขายของเราไม่รู้สึกถูกคุกคามเลย  เพราะเขาจะสุภาพยิ้มแย้มและไม่มีการตื๊อ  บอกว่าไม่ซื้อเขาก็จะยิ้มว่าไม่เป็นไรแล้วเดินไปแบบอารมณ์ดี  คนที่นี่แม้จะจนแต่เขาก็มีความสุข  ภาพที่เคยนึกว่าคนเขาจะอมทุกข์เพราะเป็นชาติคอมมิวนิสต์และยากจนขาดแคลนกลับกลับตาลปัตรไปหมด  บ้านเมืองที่นึกว่าอาจจะน่ากลัวเพราะเก่าๆโทรมๆก็ไม่น่ากลัวเลย  คงเป็นเพราะคนเขาดูไม่มีความทุกข์และเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวนี่เอง

จากปราโดมานิดเดียวก็ถึงพิพิธภัณฑ์อันสำคัญยิ่ง Museo de la Revolucion สถานที่อันเป็นหัวใจของการมาเที่ยวคิวบา  คิวบาไม่ใช่เพียงแค่เมืองแห่งการกินดื่มเสพอย่างที่หลายคนเข้าใจ  แต่คิวบาคือ “ประวัติศาสตร์” และพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เองคือสถานที่ที่ดีที่สุดที่จะศึกษาย้อนรอยประวัติศาสตร์ของคิวบาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

ความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์นี้อยู่ที่ทั้งตัวตึกเองซึ่งเป็นทำเนียบประธานาธิบดีเก่าออกแบบสร้างอย่างสวยงามในปี 1920  และทั้งเรื่องราวในนิทรรศการที่จัดแสดงอยู่ตามห้องต่างๆ  เริ่มตั้งแต่บันไดจากทางเข้าที่เป็นหินอ่อนทอดขึ้นชั้นสองนั้น  ยังมีรอยลูกปืนที่นักศึกษายิงเข้ามาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 1957 ให้เห็นอยู่  ด้วยหมายสังหาร Fulgencio Batista ประธานาธิบดีผู้นำเผด็จการ  ชั้นบนมีห้องทำงานประธานาธิบดีที่ยังคงมีเฟอร์นิเจอร์ของเดิมวางอยู่  ติดกันคือประตูเล็กที่บาทิสต้าใช้หนีลูกปืนขึ้นบันไดไป  และ Salon de los Espejos ห้องโถงจัดเลี้ยงกรุด้วยกระจกเงาทั้งห้องและภาพวาดอย่างงดงามบนเพดานที่สร้างเลียนแบบพระราชวังแวร์ซาย  ทอดต่อออกระเบียงกว้างหันหน้าเปิดสู่อ่าวคิวบาที่มองเห็นอยู่ไม่ไกล

ส่วนที่ตรึงฉันให้อยู่ที่นี่อย่างเนิ่นนานคือนิทรรศการที่เล่าเรื่องราวของคิวบาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  เรื่องราวนั้นบอกเล่าต่อเนื่องไปตามตู้กระจกต่างๆเรียงกันไปหลายห้องทั้งชั้นสองและชั้นสาม  เหมือนเดินอ่านหนังสือทีละหน้า  จะว่าไปแล้วการจัดแสดงก็ไม่ได้พิเศษอะไรเลย  ทำกันแบบง่ายๆเหมือนนิทรรศการโรงเรียน  แถมส่วนมากยังเป็นภาษาสแปนิชอีกต่างหาก  แต่เรื่องราวและภาพถ่ายของจริงเหล่านั้นต่างหากที่ทำให้ฉันติดหนึบจนถึงกับเดินแกะอ่านภาษาสเปนทุกภาพไป  เรื่องราวเกี่ยวกับฮีโรนักปฏิวัติทั้งสามคือ Fidel Castro, Che Guevara และ Camilo Cienfuegos ที่รู้มางูๆปลาๆก็เพิ่งมาชัดเจนตอนนี้โดยมีสิ่งของและภาพถ่ายประกอบเรื่องอย่างแจ่มแจ๋วเลย  ฉันหมกมุ่นกับสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจนแม้แต่วันนี้ก็ยังวนเวียนในหัวไม่หยุด  ตรงนี้ของดไม่เล่าเรื่องการเมือง  สรุปสั้นๆว่า  ฉันเข้าใจแล้วว่าทำไมเชและคามิลโลถึงเป็นวีรบุรุษ  และทำไมชาวคิวบันมากมายถึงยังบูชาฟิเดล  แม้จะเป็นเรื่องที่เข้าใจยากหากมองเข้าไปจากสายตาของศตวรรษที่ 21 ซึ่งยุคสมัยของการบริโภคเฟื่องฟูและเสรีเช่นนี้  เราคงจะเห็นว่าการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ของฟิเดลนั้นรับไม่ได้  แต่หากเข้าไปศึกษาประวัติของคิวบาย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคที่ยังเป็นอาณานิคมของสเปน  อันเป็นพื้นฐานของสัมพันธ์กับอเมริกาที่แน่นแฟ้นและมาแตกหักภายหลัง  เราจะเข้าใจอะไรที่ต่างไปจากเดิมมาก  อย่างที่ฉันเข้าใจคิวบาในฐานะที่เป็นผู้ถูกกระทำและไม่มีทางเลือก  และนั่นน่าจะเป็นสาเหตุที่ฟิเดลยังคงอยู่ในใจคนคิวบันจนทุกวันนี้  หากฟิเดลไม่ปฏิวัติล้มล้างผู้นำเผด็จการ “บาทิสต้า” และใช้นโยบายความเท่าเทียมของคอมมิวนิสต์เข้าล้างความไม่เท่าเทียมกันในสังคม  ใครจะบอกได้ว่าคิวบาจะไม่แย่ไปกว่าวันนี้  บางที…. นี่อาจจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคิวบาแล้วก็ได้

แต่ที่แน่ๆ… เช เกวาร่าได้กลายเป็นวีรบุรุษในใจฉันไปแล้ว  ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่เกี่ยวกับการเมืองหรือบทบาทของเขาต่อคิวบาเลย  แต่เป็นเพราะอุดมคติของเขา  และความยึดมั่นใน “สมบูรณ์นิยม”ที่ไม่ยอมลดมาตรฐานในสิ่งที่เขาเชื่อและทำต่างหาก  เชเป็นหมอและยึดมั่นในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์  ฉันเชื่อว่าเขาเข้าร่วมมือกับฟิเดลในการปฏิวัติคิวบาเพราะทนไม่ได้กับความไร้มนุษยธรรมและไม่เท่าเทียมที่ประชาชนคิวบันได้รับ  มากกว่าจะทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง  เขาเป็นคนอาร์เจนติน่าแท้ๆ  จะมาหวังอะไรกับตำแหน่งสำคัญในคิวบา  และกระทั่งเขาปฏิวัติสำเร็จจนมาเป็นรัฐมนตรีคลังของคิวบาแล้ว  เขาก็ยังทนไม่ได้  ต้องออกไปร่วมลุยป่าถือปืนหวังปฏิวัติให้โบลิเวียในแบบเดียวกันจนโดนฆ่าตายที่นั่นอีก  หากถอดมุมมองทางการเมืองออก  และลืมเสียว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง  การที่คนๆหนึ่งจะมีอุดมคติที่ชัดเจน  และมุ่งมั่นทำความเชื่อนั้นให้เป็นจริงโดยไม่อ่อนข้อให้ปัจจัยอื่นใด  ก็น่าจะเป็นสิ่งที่สรรเสริญไม่ใช่หรือ

ผลพวงของการปฏิวัติคิวบาในปี 1959 ที่ฉันต้องยอมคำนับก็คือ  การที่ฟิเดลและเชได้มุ่งมั่นที่จะล้มล้างความไม่รู้หนังสือให้หมดไป  เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเร่งสร้างโรงเรียนโรงพยาบาล  เน้นการออกกำลังเล่นกีฬา  ให้บทบาทและสิทธิสตรี  และจัดตั้งหน่วยงานองค์การต่างๆเพื่อเร่งสร้างบุคคลากรที่มีความสามารถ  ในเวลาไม่กี่ปีความไม่รู้หนังสือก็แทบจะหมดไป  และในวันนี้  คิวบาคือประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือที่สูงที่สุดแห่งหนึ่ง  เด็กๆได้รับการดูแลปกป้องที่ดีมากเพื่อให้ได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ  ในฮาวาน่านั้นแทบทุกคนที่เดินผ่านมาในถนนจะพูดภาษาอังกฤษได้  คนขับแท็กซี่ที่พูดได้สามภาษาเป็นเรื่องธรรมดา  ส่วนในด้านคุณภาพชีวิตนั้น  คิวบาคือชาติที่ประชาชนมีอายุยืนที่สุดในประเทศโลกที่สาม  คือเฉลี่ยถึง 78 ปี  จำนวนแพทย์และครูต่อประชาชนสูงกว่าประเทศโลกที่หนึ่งหลายประเทศ  การกีฬาก็เป็นเลิศขนาดที่มีแชมป์โอลิมปิกมากมาย  ส่วนด้านศิลปวัฒนธรรมนั้นก็ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังไม่แพ้กัน  ที่โดดเด่นที่สุดน่าจะเป็นบัลเล่ต์อย่างที่เกริ่นไว้

ด้านนอกตึกทำเนียบอีกฝั่งของถนนเป็นส่วนของพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรือ Granma อันเป็นเรือประวัติศาสตร์ที่ฟิเดล เช และคามิโลนั่งจากเม็กซิโกมาขึ้นคิวบาเพื่อปฏิวัติที่ Playa Las Coloradas เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 1956  สองปีก่อนที่จะปฏิวัติสำเร็จ  ร่องรอยของการโดนยิงจากเครื่องบินโดยทหารของบาทิสต้ายังมีให้เห็น  และมีรถถังและรถราต่างๆที่ฟิเดลและเชใช้ในกิจการกู้ชาติสมัยเป็นกองโจรเพื่อสู้กับบาทิสต้า  รถทุกคันมีรอยกระสุนพรุนไปหมด  รวมทั้งเครื่องบินสหรัฐที่โดนยิงตกเมื่อมาโจมตีคิวบาในช่วงที่ตึงเครียดกันก่อนจะคว่ำบาตรด้วย

ฉันเดินออกจากพิพิธภัณฑ์มาด้วยความคิดเต็มหัวไปหมด  ฉันชอบความรู้สึกเต็มอิ่มแบบนี้เวลาที่ออกมาจากพิพิธภัณฑ์  แต่มันทำให้ฉันไม่มีความอยากจะเข้าไปชม Museo Nacional de Bellas Artes ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่อยู่ติดกันทั้งๆที่ใครๆก็ว่าน่าเข้าไปชม  แต่จิตใจฉันมันกำลังหมกมุ่นในแง่ประวัตฺศาสตร์อยู่จึงไม่มีอารมณ์ศิลป์  เก็บไว้ก่อนแล้วกัน

เดินข้ามมายังโบสถ์ Iglesia del Angel Custodio  หน้าตาแปลกไม่เหมือนใครด้วยสถาปัตยกรรมแบบนีโอโกธิคทาสีขาวจั๊วะมีจุกเล็กๆเต็มไปหมด  โบสถ์นี้สร้างในปี 1693 จึงมีส่วนร่วมสำคัญหลายอย่างทางประวัติศาสตร์  อย่างเช่นวีรบุรุษโฮเซ่ มาร์ติก็ทำพิธีรับศีลที่นี่  โผล่มาออกที่หัวใจของเมืองเก่าฮาวาน่าอีกแห่งหนึ่ง  จตุรัส Plaza de la Catedral นี้เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของฮาวาน่าก็ว่าได้  ล้อมรอบลานทั้งสี่ด้านด้วยสถานที่สำคัญน่าชม  โดดเด่นเป็นสง่าทางเหนือคือ Catedral de San Cristobal สร้างในศตวรรษ 18 และขึ้นทะเบียนแห่งชาติ  มีด้านหน้าอันอลังการด้วยศิลปะแบบบาโร้ค  นับว่าเป็นสถาปัตยกรรมโบสถ์ที่สวยที่สุดในทวีปอเมริกาแห่งหนึ่ง  และมีความสำคัญอย่างยิ่ง  คราวที่สันตะปาปาจอห์นพอลมาเยือนคิวบาในปี 1998 ท่านก็มาทำพิธีมิซซาที่ลานด้านหน้าโบสถ์นี้

 

 

ด้านข้างของโบสถ์คือ Palacio del Conde Lombillo และ Palacio de los Marqueses de Arcos  ตึกหลังนี้เคยเป็นไปรษณีย์เก่า  กำแพงด้านหน้าเลยยังมีตู้ไปรษณีย์ให้เห็นอยู่  แปลกไม่เหมือนที่ไหน  เพราะทำเป็นหน้าคนอ้าปากกว้าง  ช่องที่หยอดจดหมายก็คือปากนั่นเอง

 

ด้านตรงข้ามโบสถ์คือ Museo de Arte Colonial เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงครื่องเรือนแบบโคโลเนียล  ซึ่งแน่นนอนคนบ้าสถาปัตยกรรมและของแต่งบ้านอย่างฉันต้องไม่พลาด  ของที่จัดแสดงนั้นไม่น่าตื่นเต้นอะไรมาก  แต่ที่ฉันชอบและสนใจจะเข้าไปดูจริงๆมากกว่าคือตัวตึกเอง  เพราะเป็นตึกเก่าที่สร้างมาตั้งสามร้อยปีแล้ว  เป็นบ้านแบบสเปนที่มีคอร์ทยาร์ดปลูกต้นไม้อยู่กลางบ้าน  ล้อมลานทั้งสี่ด้านด้วยทางเดินรอบและห้องหับ  กำแพงสีเหลืองตัดกับประตูหน้าต่างสีฟ้าแช็ด  น่ารักน่าอยู่มาก

อีกด้านเป็นร้านอาหารดัง El Patio ที่ใครๆก็ต้องมากินโดยเฉพาะมื้อกลางวัน  ตัวตึกเป็นวังเก่า Palacio de los Marqueses de Aguas Claras สร้างปลายศตวรรษ 18 เรานั่งบนระเบียงชั้นสอง  บรรยากาศดีสุดๆเพราะมองลงมาเห็นความเป็นไปในลานทั้งลาน  มีดนตรีสดเล่นครึกครื้น  หน้าพิพิธภัณฑ์ก็มีนักดนตรีวณิพกสี่ห้าคนรวมตัวกันเล่นดนตรีจังหวะซาลซ่าเร้าใจ  สักพักมีกลุ่มนักแสดงต่อขาสูงแบบในคณะละครสัตว์เต้นเข้ามาในเสื้อผ้าสดใสพร้อมวงดนตรีที่เดินบรรเลงตามมาด้วย  จังหวะละตินเร้าใจชวนให้ขยับแข้งขา  ดนตรีทั้งสามกลุ่มนี้ไม่มีแข่งกันเล่น  ต่างสลับกันพักสลับกันเล่นอย่างรู้งาน  เรียกว่าแบ่งรายได้กันอย่างทั่วถึงแล้วยังช่วยให้บรรยากาศไม่จางหายจากเสียงดนตรี  และในบริเวณลานยังมีสาวๆและป้าๆผิวดำใส่ชุดประโปรงสีแปร๋นแบบละตินแอฟริกันยุคโคโลเนียลโพกผมเดินไปมาให้ถ่ายรูปด้วย  ฉันนั่งจิบโมฮิโต้แกล้มล็อบสเตอร์อาบแดดบนระเบียง  ตบท้ายด้วยการสั่งซิการ์โคฮิบาตัวอ้วนมาพ่นควัน  ไหนเลยจะเป็นสุขและได้รสชาติความเป็นฮาวาน่าไปมากกว่านี้ได้อีก

แวะที่ Bodeguita del Medio บาร์ดังเพราะเป็นบาร์ที่เออร์เนส เฮมิงเวย์เคยมานั่งประจำ  ฉันได้แต่ชะโงกเข้าไปดูและถ่ายรูปจากด้านนอก  เพราะได้ยินมาว่าอาหารไม่ได้เรื่องเท่าไร  ขายความดังในอดีตเท่านั้น  ร้านเล็กนิดเดียวและมีไม่กี่โต๊ะ  แต่ก็ยังเก็บบรรยากาศเก๋าแบบแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเอาไว้อย่างได้อารมณ์

 

เดินต่อไปไม่กี่ช่วงตึกก็ถึงลานสำคัญอีกแห่ง Plaza de Armas รอบสี่ด้านมีสถานที่น่าสนใจอีกเช่นเคย  เริ่มที่ Palacio de los Capitanes Generales เป็นวังสไตล์บาโร้คของเจ้าสเปนผู้ปกครองคิวบาในยุคอาณานิคม  เดี๋ยวนี้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเครื่องเรือนของใช้เหมือนสมัยในนั้น  กลางตึกสูงสามชั้นเปิดโล่งเป็นคอร์ทยาร์ดมีต้นปาล์มสูงปริ๊ดสองต้นประดับอยู่โดดเด่น  ที่สำคัญมีอนุสาวรีย์โคลัมบัสสีขาวยืนต้อนรับอยู่กลางสวนตั้งแต่ก้าวเข้าไป  ระเบียงกว้างรอบสวนกลางตรงชั้นบนสุดนั้นน่าสบายมาก  มีห้องที่ทำเป็นท้องพระโรงเล็กๆพร้อมบัลลังค์เตรียมไว้ต้อนรับกษัตริย์สเปนซึ่งไม่เคยได้ใช้งานเลย  ห้องกระจกหรูหรา หลุมฝังศพที่ใต้ดิน และเครื่องใช้ต่างๆ  เจ้าหน้าที่ที่นั่งเฝ้าแต่ละห้องนั้นมีจำนวนหลายคน  ต่างนั่งหาวหวอดๆเพราะไม่มีอะไรทำ  ชอบมาทักถามเราว่ามาจากประเทศอะไร  มีเจ้าหน้าที่บางคนมาคุยแบบเป็นมิตรแล้วเชื้อเชิญให้เข้าไปดูของที่จัดแสดงไว้ถึงด้านในที่กั้นเชือกห้ามเข้า  เรียกว่าทำให้เรารู้สึกพิเศษมากว่าได้เข้าไปดูอย่างใกล้ชิด  พอดูเสร็จเขาก็จะมาอ้อมแอ้มๆขอเงินพิเศษ  เราเลยเข้าใจได้ว่านี่เองสาเหตุ  แต่พอเราบอกว่าไม่ให้  เขาก็ยิ้มแบบเขินๆด้วยซ้ำแล้วรีบบอกว่าไม่เป็นไร  ฉันว่าที่เขาไม่ตื๊อหรือไม่แสดงกิริยาไม่พอใจเราคงเป็นเพราะเขารู้ว่ามันเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง  และหากเราไปฟ้องเจ้าหน้าที่ขึ้นมาเขาคงต้องโดนลงโทษแบบรุนแรงแน่ๆ

อีกด้านหนึ่งของลานปลาซ่าดิอาร์มาสคือ Palacio del Segundo Cabo  เคยเป็นบ้านพักของทหารผู้ว่าการเมืองชาวสเปน  ปัจจุบันเป็นสถาบันหนังสือของคิวบา  ฉันเข้าไปเลือกซื้อหนังสือจากร้านหนังสือชั้นล่าง  ได้ซื้อหนังสือประมวลภาพของเช เกวาร่าซึ่งช่างภาพชื่อดังของคิวบาทั้งหลายที่เคยถ่ายรูปเขาไว้มารวมตัวกันทำหนังสือนี้เป็นที่ระลึก  มีบทสัมภาษณ์ช่างภาพแต่ละคนรวมทั้ง Korda หรือ Alberto Diaz ซึ่งเป็นผู้ถ่ายภาพเชใส่หมวกแบเร่ต์เงยหน้านิดๆด้วยดวงตาที่มุ่งมั่น  ภาพที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของเชที่เราเห็นจนชินตาทั่วโลก  ช่างภาพคนหนึ่งที่ทำงานให้รัฐบาลเล่าในบทสัมภาษณ์ว่า  วันที่เชไปให้สัมภาษณ์ออกทีวีนั้นเขาถ่ายรูปเชไว้ได้มากมาย  จึงอัดล้างแล้วเอาใส่ซองไปวางให้เช  แค่ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงเชเดินมาหาเขาพร้อมซองภาพทั้งหมดนั้นแล้วพูดว่า  ภาพพวกนี้ถ่ายดีทั้งหมด  แต่ที่ไม่ดีคือตัวช่างภาพ  เพราะถ่ายไปทำไมมากมายเกินจำเป็น  เป็นการใช้ทรัพยากรชาติอย่างสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ  เชนั้นเป็นที่ขึ้นชื่อเรื่องเคร่งครัดในการใช้ทรัพย์สินของชาติมาตลอด  เพราะเขามุ่งมั่นที่จะลบช่องว่างระหว่างชนชั้นจริงๆ

ที่อยู่ติดกันต่อมาเป็น Castillo de la Real Fuerza ป้อมทหารเก่าแก่ที่สุดในเมืองสร้างสมัยศตวรรษที่ 16  ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องกระเบื้องและโมเดลเรือจำลอง  สำหรับฉัน..เช่นเคย..ที่น่าสนใจมากกว่าคือตัวป้อมอาคารเอง  ต้องบอกว่าประทับใจมากๆ โครงสร้างนั้นแปลกไม่เหมือนใคร  หากมองลงมาจากบนฟ้าจะเห็นตัวป้อมเป็นตัวเครื่องหมายคูณ  ทางเข้าอยู่ระหว่างสองขาล่าง  ปลายเครื่องหมายทั้งสี่แฉกเรียวแหลม  ทั้งป้อมตั้งอยู่ในน้ำ  เวลาเดินชมในตัวตึกจึงต้องเดินไขว้ไปมาเพื่อดูให้ครบทั้งสี่ขา  ส่วนบนยอดตึกนั้นขึ้นไปดูได้เห็นวิวอ่าวคิวบาแค่เอื้อม  บนยอดโดมซึ่งตั้งอยู่บนขาหนึ่งของป้อมมี La Giraldilla เป็นรูปปั้นบรอนซ์สัญลักษณ์ของเมืองฮาวาน่าประดับอยู่

อีกด้านหนึ่งของปลาซ่าดิอาร์มาสคือ El Templete ที่หมายถึงโบสถ์เล็กๆ  ซึ่งอาคารแบบนีโอคลาสสิกหลังนี้ขนาดเล็กสมชื่อ  ด้านหน้ามีสวนเล็กๆและมีต้นไม้พิเศษที่มีตาไม้เหมือนหน้าคนชื่อต้น Ceiba  เคล็ดคือเราต้องเดินวนสามรอบแล้วอธิษฐานขอพรได้สามอย่าง  ด้านหลังเต็มเปล็ตคือถนนสายแคบและสั้นที่สุดในฮาวาน่าชื่อ  Calle Enna และติดกับเต็มเปล็ตและถนนเอ็นนานี่เองคือโรงแรมซานตาอิซซาเบลที่เราย้ายมาพักกันในสี่วันหลัง

ถนนคนเดิน Obispo คือหัวใจของฮาวาน่าที่นักท่องเที่ยวพลาดไม่ได้  เพราะนอกจากสถานที่สำคัญทั้งหลายจะมา
รวมกันอยู่ที่นี่แล้ว  ตรอกซอกซอยโดยรอบก็ยังน่าเดินชมบรรดาตึกเก่าโบราณที่ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์โดยยูเนสโก้  และได้แอบชมวิถีชีวิตชาวเมืองฮาวาน่าแท้ที่อาศัยอยู่ในตึกเหล่านี้ด้วย  ภาพคุณป้าผิวดำยืนบนระเบียงแทรกกลางผ้าที่ซักตากไว้  ความรกรุงรังของชีวิตอันอัตคัตในปัจจุบันที่ตัดกับร่องรอยของความรุ่งเรืองฟู่ฟ่าในอดีตของฮาวาน่าในตึกเดียวกันนั้น  เป็นภาพของฮาวาน่าที่เราเห็นได้จนชินตาทั่วไปในไกด์บุค  และที่ถนนโอบิสโป้นี้แหละ  ที่ภาพทั้งหลายนั้นถูกบันทึกไว้

นอกจากตึกเก่าที่ชวนให้หลงคิดว่าหลุดย้อนอดีตไปแล้ว  รอบลานปลาซ่าดิอาร์มาสยังมีแผงขายหนังสือที่เต็มไปด้วยหนังสือเก่าเกี่ยวกับคิวบา  ภาพเช เกวาร่าและฟิเดล คาสโตรบนปกหนังสือเหล่านั้นเหมือนหลอนว่าวีรบุรุษเหล่านี้ไม่มีวันตาย  ตึกเก่าทั้งหลายเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าเดินชม  ร้านขายน้ำกรองอายุร้อยปี Casa del Agua la Tinaja ที่มีเครื่องกรองน้ำเซรามิคแบบโบราณตั้งโชว์อยู่  บ้านเลขที่ 115 มีแผ่นปูนปั้นหน้าคนอ้าปากเป็นช่องรับไปรษณีย์  บ้านโคโลเนียลประตูสีฟ้าหมายเลข 117 ซึ่งเป็นบ้านที่เก่าที่สุดฮาวาน่า  เดินเรื่อยมาคือร้านขายยา Farmacia Taquechel ที่ขายมาเป็นร้อยปีเช่นกัน  ด้านในชวนให้หลงรักจนใจหาย  เพราะในตู้ไม้โบราณเต็มกำแพงหลังเคาน์เตอร์นั้น  มีโถกระเบื้องสีขาวเขียนลายและชื่อยาทำในศตวรรษที่ 17 เรียงเต็ม  เหมือนหลุดเข้ามาในพิพิธภัณฑ์มากกว่าจะเป็นร้านขายยาที่ยังให้บริการอยู่จริง

เลยมาอีกนิดคือโรงแรม Ambos Mundos ซึ่งเออร์เนส เฮมิงเวย์มาพักอยู่ถึง 7 ปีก่อนที่เขาจะซื้อบ้านในคิวบา  โรงแรมนี้จึงเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง

ตลอดถนนโอบิสโป้นี้มีร้านอาหารและบาร์ที่มีวงบรรเลงจังหวะซาลซ่าสดตลอดทาง  ทำให้เสียงดนตรีไม่เคยจางหายไปจากฮาวาน่า  เช่นร้าน La Lluvia de Oro มีอาหารพื้นเมือง Ropa Vieja เป็นเนื้อฉีกฝอยผัดพริกกินกับข้าว  มีบาร์ที่เรียกโมฮิโต้หรือไดคิริมาเสริมอารมณ์ขยับแข้งขาส่ายสะโพกได้ไม่ว่าเวลาใดของวัน  สุดถนนคือ El Floridita ร้านอาหารที่ดังที่สุดอีกแห่งของเมืองเพราะเฮมิงเวย์มานั่งเขียนหนังสือประจำ  มีรูปหล่อขนาดเท่าตัวจริงของเขาตั้งไว้ที่มุมในสุดของเคาน์เตอร์ตรงตำแหน่งที่เขาเคยนั่ง  ที่ร้านนี้เองที่เฮมิงเวย์ได้ช่วยบาร์เท็นเดอร์คิดค้นค็อกเทล“ไดคิริ”ที่ดังไปทั่งโลก  ด้านในคือส่วนของร้านอาหารที่ฉันได้ไปกินมื้อเย็นที่นับว่าหรูหราและแพงที่สุดของฮาวาน่า  จานเด็ดที่ต้องลองคืออาหารทะเลโดยเฉพาะล็อบสเตอร์ที่เป็นผลผลิตหลักของคิวบาที่ส่งออกไปขายทั่วโลก  แน่นอนฉันกินล็อบสเตอร์เสียทุกวันจนสะใจที่อยู่ฮาวาน่าเพราะถูกมาก

หากเดินพ้นโอบิสโป้มานิด  ลองเลาะเลี้ยวไปตามตรอกซอกถนนรอบๆดูแล้วชมสถาปัตยกรรมที่เป็นดังพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งนี้  รับรองว่าจะอยากหยุดถ่ายรูปไปทุกๆสามสี่ก้าว  เช่นที่ถนน Calle Obra Pia มี Casa de la Obra Pia คฤหาสน์สีเหลืองแจ่มหลังนี้มีกรอบประตูเข้าบ้านแบบบาโร้คสุดแสนจะอลังการที่แกะเกลาส่งมาจากสเปน  หรือ La Casa de los Arabes ที่เคยเป็นโรงเรียนแห่งแรกในฮาวาน่าในศตวรรษที่ 17  และถนน Calle Oficios มีบ้านตึกแถวแบบโคโลเนียลที่ได้รับการบูรณะแล้ว  เป็นร้านอาหาร บาร์และร้านค้าจึงสวยได้ใจทั้งสาย  ถนนนี้ยังมี Museo del Auto Antiguo หรือพิพิธภัณฑ์รถเก่าที่ถูกใจคนรักรถอีกด้วย  หากเดินเลยมาอีกหน่อยจะพบ Plaza San Francisco ที่มีโบสถ์สวย Iglesia San Francisco และ Plaza Vieja

เลยมาอีกนิดคือพิพิธภัณฑ์เหล้ารัม Museo de Ron หรือโรงกลั่นรัมยี่ห้อ Havana Club ที่คอเหล้ารู้จักดี  ที่นี่แสดงการกลั่นทำเหล้ารัม  เครื่องดื่มประจำชาติคิวบาที่ย้อมใจคนทั่วทั้งโลก  ด้านหน้ามีร้านค้าให้แวะซื้อรัมกลับบ้านไว้จิบยามคิดถึงคิวบา  รัมนั้นมีสี่ประเภทตามอายุการบ่ม  ยิ่งนานสีก็จะเข้มขึ้น  เรียกชื่อประเภทตามสี  เริ่มจาก Silver Dry ที่ใช้ผสมในค็อกเทลทั้งหลายสีขาวใสเหมือนหลอกให้กินน้ำ  ถัดมาคือ Carta Blanca อายุ 3 ปี ชื่อขาว (Blanca )แต่สีออกเหลืองขึ้นมาหน่อย  แล้วสีทองผ่องอำพันดังชื่อ  Carta Oro อายุ 5 ปี  จนเก๋าท้ายสุดอายุ 7 ปีขึ้นไป Anejo  สีเข้มสนิท  สามประเภทหลังนี้นิยมดื่มเพียวๆกับน้ำแข็ง  แต่ฉันเอาสีทองมาทำค็อกเทลก็อร่อยไม่รู้เรื่องดีเหมือนกัน

ขอออกจากเมืองเก่าฮาวาน่าไปเห็นรอบนอกบ้าง  รายการแรกคือทัวร์ “เฮมิงเวย์” ใช้เวลาแค่สามชั่วโมงครึ่งเช้าอย่างสบายๆ….

(อ่านต่อในหนังสือ คิวบา อดีต ณ. ปัจจุบัน )

หมายเหตุ บทความนี้เขียนเมื่อมกราคม 2553 ซึ่งเป็นเวลาที่ฟิเดล คาสโตรยังมีชีวิตอยู่ และอเมริกายังไม่ได้ยกเลิกการคว่ำบาตรห้ามเข้าประเทศคิวบา

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

NO COMMENTS