สืบเนื่องจากสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซียที่ประเทศตะวันตกพร้อมใจกันคว่ำบาตรรัสเซียนั้น รวมทั้งสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งวางตัวเป็นกลางอย่างชัดเจนมาตลอด แม้แต่การพบกันครั้งล่าสุดของไบเดนและปูตินก็ยังนัดพบกันที่เมืองเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ด้วยความเป็นกลางที่ทุกคนเคารพ แต่ในสงครามครั้งนี้สวิตฯกลับประกาศคว่ำบาตรรัสเซียอย่างชัดเจนในแง่เศรษฐกิจ สั่งอายัดเงินในธนาคารสวิสของปูตินและผู้นำระดับสูงของรัฐบาลรัสเซีย ทำให้หลายคนทั่วโลกตกใจว่าแม้แต่สวิตฯก็ยังทนไม่ได้ต้องลุกขึ้นมาประกาศจุดยืน โดยประธานาธิบดีของสวิตฯพูดอย่างชัดเจนว่า “Playing into the hands of an aggressor is not neutral.” หรือ “การตกเป็นเบี้ยในมือของผู้ก้าวร้าวรุนแรงนั่นแหละคือการที่ไม่เป็นกลาง”เขาหมายความว่าหากสวิตฯอยู่เฉยไม่ลุกขึ้นมาคัดค้านรัสเซียหรือตัดท่อน้ำเลี้ยงในการทำสงครามของรัสเซีย นั่นก็หมายความว่าสวิตฯเข้าข้างรัสเซียและไม่เป็นกลางนั่นเอง งานนี้ทำให้หลายคนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยในสวิตเซอร์แลนด์เองตั้งข้อสงสัยว่าสวิตฯเลิกเป็นกลางแล้วหรือ เพราะหลายคนเข้าใจว่าการเป็นกลางคือการไม่ลุกขึ้นมาพูดอะไรเข้าข้างใครทั้งสิ้น พอดีฉันได้อ่านบทความในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Le News ภาคภาษาอังกฤษของที่สวิตฯ เขาเขียนอธิบายเกี่ยวกับความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์เอาไว้ดีมาก ฉันก็ได้ความรู้ใหม่ไปด้วย จึงอยากนำมาแบ่งปันกันโดยสรุปบทความจากหนังสือพิมพ์มาย่อๆดังนี้

สวิตเซอร์แลนด์ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญากรุงเฮกเมื่อปี 1907 ซึ่งเป็นอนุสัญญาเดียวเกี่ยวกับความเป็นกลางของนานาชาติ โดยที่มีข้อกำหนดว่า ประเทศที่ลงสัตยาบันเป็นกลางจะต้องไม่ส่งกำลังทหารไปบุกรุกหรือเข้าร่วมกับฝ่ายใดหรือประเทศใดหากมีกรณีพิพาท และห้ามไม่ให้ประเทศอื่นใช้พื้นที่ของประเทศที่เป็นกลางเป็นทางผ่านของกองกำลังทหาร การขนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือเสบียงในการรบ แต่จะใช้กำลังทหารได้เพื่อปกป้องอธิปไตยและดินแดนของตนเองเท่านั้น จะเห็นว่านิยามของคำว่า “เป็นกลาง” นั้น ครอบคลุมถึงเรื่อง “กำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เกี่ยวกับการรบ”เท่านั้น ส่วนในด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจนั้นไม่เกี่ยว ประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาสามารถเลือกข้างหรือคว่ำบาตรประเทศที่ตนไม่เห็นด้วยได้ แม้ว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสองสวิตเซอร์แลนด์จะเลือกเป็นกลางเต็มขั้น คือเป็นกลางจริงๆทั้งในแง่การทหารการเมืองและเศรษฐกิจ แม้แต่เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้วมีการตั้งองค์การสหประชาชาติหรือ United Nations (UN) ขึ้น สวิตเซอร์แลนด์ก็ยังไม่เข้าร่วมด้วยซ้ำ แต่ 50 ปีให้หลังเมื่อกำแพงเบอร์ลินสลาย สวิตเซอร์แลนด์ก็ได้ตีพิมพ์ White Paper หรือคำแถลงของคำจำกัดความอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับความเป็นกลางนี้ว่าไม่ครอบคลุมถึงในแง่เศรษฐกิจและการทูตการเมือง ซึ่งยังใช้มาอยู่ถึงปัจจุบัน แม้แต่เมื่อสวิตฯเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติในที่สุดเมื่อปี 2002 ก็ยังเป็นเงื่อนไขที่ชัดเจนถึงความเป็นกลางที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามใน White Paper นั้น ซึ่งโดยสรุปมี 5 ข้อดังนี้

1. ความเป็นกลางของสวิตฯนั้นหมายความเฉพาะเจาะจงถึงความเป็นกลางทางการทหาร สวิตเซอร์แลนด์จะใช้กำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อปกป้องดินแดนและอธิปไตยของตนเองจากการถูกรุกรานหรือข่มขู่ได้เท่านั้น แต่จะไม่สามารถส่งกำลังทหารเข้าร่วมกับฝ่ายใดได้ ดังนั้นจึงชัดเจนที่ว่าสวิตเซอร์แลนด์จะไม่เข้าร่วมกับ NATO อย่างเด็ดขาด

2. ความเป็นกลางของสวิตฯไม่ได้ถูกบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ แต่ระบุเอาไว้ว่าเป็นหน้าที่ของสภากลางและรัฐบาลที่จะดูแลรักษาความเป็นกลาง เอกสารที่จำกัดความเป็นกลางของสวิตฯเอาไว้อย่างชัดเจนที่สุดก็ยังคงเป็น White Paper ที่เขียนเมื่อปี 1993 

3. ความเป็นกลางของสวิตฯนั้นได้ประกาศถือเป็นเรื่องถาวรตลอดไปไม่ใช่แค่ชั่วคราว โดยความตั้งใจนี้ได้เป็นที่รับรู้กันระหว่างรัสเซีย อังกฤษ ปรัสเซีย ฝรั่งเศส และออสเตรีย ณ. การประชุมสภาคองเกรซที่กรุงเวียนนาเมื่อเดือนมีนาคมปี 1815 และในปีเดียวกันประเทศเหล่านี้ก็ได้ลงนามรับรู้อย่างเป็นทางการที่กรุงปารีส ว่าสวิตเซอร์แลนด์จะเป็นกลางทางทหาร และประเทศใดก็ไม่สามารถละเมิดความเป็นกลางนี้ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสวิตเซอร์แลนด์จะยกเลิกความเป็นกลางทางการทหารไม่ได้ในอนาคตหากนั่นเป็นความต้องการของพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งในสวิตฯนั้นทุกสิ่งอย่างจะต้องตัดสินใจผ่านการลงมติของประชาชนทุกคนอยู่แล้ว

4. ความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์นั้นไม่ได้หมายรวมถึงทางการทูตและเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่าสวิตฯสามารถคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจประเทศใดก็ได้ โดยเฉพาะตราบใดที่สอดคล้องกับอธิปไตยและมนุษยธรรมตามที่สวิตฯเห็นสมควร และไม่จำกัดห้ามไม่ให้สวิตฯส่งความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมไปให้ประชาชนในประเทศที่กำลังมีความขัดแย้งหรือสงครามอยู่

5. การสำรวจความเห็นของประชาชนเมื่อปี 2021 นั้นประชาชนถึง 96% เห็นชอบให้สวิตฯยังคงนโยบายความเป็นกลางทางการทหารอยู่ และ 57% เห็นว่าสวิตฯควรจะแยกแยะความเป็นกลางทางการทหารออกจากเศรษฐกิจและการทูต

จากบทสรุปข้างต้นนี้จึงชัดเจนว่าการที่สวิตเซอร์แลนด์ออกมาคว่ำบาตรรัสเซียทางเศรษฐกิจนั้นไม่ได้ขัดกับนิยามความเป็นกลางในอนุสัญญาและใน White Paper เลย จากวันที่รัฐบาลออกมาประกาศและโหวตในยูเอ็นว่าไม่เห็นด้วยกับรัสเซีย และให้ธนาคารสวิสอายัดเงินของปูตินและผู้นำระดับสูงในรัฐบาลรัสเซียทั้งหมด จนถึงวันนี้ที่ภาคเอกชนเช่นบริษัทเนสท์เล่ก็ประกาศหยุดขายสินค้าในรัสเซียแล้วยกเว้นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ และประกาศไม่ทำกำไรเพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายภาษีสนับสนุนรัฐบาลรัสเซียแล้ว สิ่งเหล่านี้ชัดเจนว่าคำแถลงที่ว่า “Playing into the hands of an aggressor is not neutral.” นั้น ไม่ใช่เพียงคำพูดที่สวยหรู แต่เป็นคำพูดที่ถูกต้องตรงในอนุสัญญาที่นานาชาติรวมทั้งรัสเซียลงนามรับรองทุกประการ

จากบทสรุปข้างต้นนี้จึงชัดเจนว่า การที่สวิตเซอร์แลนด์ออกมาคว่ำบาตรรัสเซียทางเศรษฐกิจนั้นไม่ได้ขัดกับนิยามความเป็นกลางในอนุสัญญาและในWhite Paper เลย จากวันที่รัฐบาลออกมาประกาศและโหวตในยูเอ็นว่าไม่เห็นด้วยกับรัสเซีย และให้ธนาคารสวิสอายัดเงินของปูตินและผู้นำระดับสูงในรัฐบาลรัสเซียทั้งหมด จนถึงวันนี้ที่ภาคเอกชนเช่นบริษัทเนสท์เล่ก็ประกาศหยุดขายสินค้าในรัสเซียแล้วยกเว้นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ และประกาศไม่ทำกำไรเพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายภาษีสนับสนุนรัฐบาลรัสเซียแล้ว สิ่งเหล่านี้ชัดเจนว่าคำแถลงที่ว่า “Playing into the hands of an aggressor is not neutral.” นั้น ไม่ใช่เพียงคำพูดที่สวยหรู แต่เป็นคำพูดที่ถูกต้องตรงในอนุสัญญาที่นานาชาติรวมทั้งรัสเซียลงนามรับรองทุกประการ

เครดิตจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Le News ตามลิ้งค์ นี้

และหากใครต้องการอ่าน White Paper เกี่ยวกับความเป็นกลางของสวิตฯก็อ่านได้ที่ลิงค์นี้

NO COMMENTS