อยุธยามีวัดเก่าที่สวยงามมากมายเกินนับ แต่ฉันเพิ่งได้ไปค้นพบวัดแห่งหนึ่งมา ซึ่งแม้จะไม่ได้สร้างในสมัยอยุธยา แต่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3 หากก็มีความสวยงามชนิดที่ทำให้หัวใจฉันเต้นไม่เป็นส่ำทีเดียว เพราะสวยทั้งสถาปัตยกรรมและวัตถุโบราณล้ำค่ามากมายที่มีอยู่ในวัด สวยแบบทองแท้ ลุ่มลึก คลาสสิค ไม่โฉ่งฉ่างพาณิชย์แบบที่คนแห่กันไปเช็คอิน

วัดนี้คือวัดย่านอ่างทอง หรือชื่อเดิมว่าวัดจุฬาโลก อยู่ที่ตำบลบ้านใหญ่ อำเภอผักไห่ และผู้ที่พาฉันไปเปิดโลกได้รู้จักวัดแห่งนี้ก็คือป้าบุดบาจากเพจป้าบุดบา ซึ่งช่ำชองในเรื่องการเที่ยวชมเจาะลึกสถานที่ต่างๆในประวัติศาสตร์ทั่วประเทศไทยนั่นเอง นอกจากป้าจะพาฉันไปเที่ยวชมอย่างสนุกแล้ว ยังแบกเอากล้องระดับโปรไปถ่ายรูปให้อีกด้วยถึงสองตัว วันนี้นอกจากจะมีรูปที่ฉันถ่ายมาเองแล้ว จึงยังมีรูป Behind the scene หลังฉากที่ฉันกำลังถ่ายรูปและชื่นชมโน่นนี่นั่นซึ่งถ่ายโดยป้าบุดบาแถมมาอีกด้วย

วัดย่านอ่างทองนี้เพียงแค่เห็นวิหารด้านนอกก็ต้องตื่นตะลึงด้วยสถาปัตยกรรมที่แปลกตาแล้ว ด้วยมีขนาดเล็กกระทัดรัดและมีสีสันที่คลาสสิคผิดไปจากวัดทั่วไป หลังคาเป็นสีน้ำเงินเข้ม มีพระปรางค์สีขาวที่กลายเป็นออกเทาด้วยความเก่า คุมโทนกับกำแพงขาว กรอบหน้าต่างประตูเป็นสีทองที่หมองคร่ำ โดยรวมออกอารมณ์เป็นสีซีเปียให้ความรู้สึกเก่าแก่ที่ขลังและเก๋มาก ไม่มีการบูรณะให้แลดูใหม่ทองอร่ามหรือฉูดฉาด จึงดูอาร์ตอย่างมาก ถูกใจฉันจริงๆ

แต่ที่ยิ่งสวยสุดๆไปเลยก็คือด้านใน ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปสีทองหม่นบนกรอบประตู ลวดลายปูนปั้นแกะสลักละเอียดยิบเป็นสีน้ำตาลทอง ร่องรอยกระเบื้องโบราณที่เหลืออยู่เพียงบางส่วน ภาพจิตรกรรมฝาผนังบนปูนสีสันสดใสแต่ดูไม่ฉูดฉาด และยังภาพวาดบนบานหน้าต่างรูปเทวดาเทพพนมที่บางภาพก็จางหายกลืนไปในเนื้อไม้ ที่ฉันชอบมากๆก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปต้นไม้ที่มีนารีผลหรือมักกะลีผล และพระประธานที่ตั้งประทับอยู่อย่างเรียบง่ายโดดเด่นปราศจากเครื่องไหว้บูชาธูปเทียนใดๆให้รกตา ทั้งสวย ขลัง และน่าศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่เราชมความงามภายในของวิหารอยู่ก็มีผู้ชายเดินมาแนะนำตัวว่าเป็นมรรคนายก เรามารู้ทีหลังว่าชื่อพี่อ้วน เข้ามาเล่าประวัติต่างๆเกี่ยวกับวัดนี้ให้เราฟัง และชี้ชวนให้ชมสิ่งต่างๆพร้อมอธิบายเรื่องราวอย่างละเอียด เช่นพระพุทธรูปที่เห็นเหนือกรอบประตูนั้นเดิมเป็นพระปางนาคปรก หากแต่นาคได้ตกลงมา จึงเหลือแต่พระพุทธรูปประทับอยู่ด้านบน

พี่อ้วนมีความรู้มากๆ และยังชวนเราเดินไปชมสมบัติล้ำค่าทั้งหลายของวัด เป็นโบราณวัตถุที่เก็บอยู่ในกุฎิเจ้าอาวาสและในอาคารพิพิธภัณฑ์ของวัด ข้าวของเหล่านี้ท่านเจ้าอาวาสได้ขึ้นทะเบียนทำบัญชีเอาไว้ทุกชิ้น หากแต่จัดวางอยู่ในห้องต่างๆประหนึ่งของโชว์ของใช้ ไม่ได้อยู่ในตู้ล็อคเอาไว้ ยกเว้นบรรดาพระพุทธรูปเล็กใหญ่มากมายที่รวมกันไว้ในห้องที่สร้างขึ้นมาเป็นลูกกรงเพื่อกันขโมย วัตถุโบราณเหล่านี้มีทั้งเฟอร์นิเจอร์รูปทรงแปลกตา ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เนื่องจากวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเจ้าอาวาสสมัยนั้นได้ขอให้ท่านเจ้าอาวาสในวัดจากวังหน้าในเมืองพระนครมาช่วยสร้างวัดนี้ให้สวยงามเหมือนอย่างในพระนคร พวกเฟอร์นิเจอร์และของใช้ต่างๆจึงมีศิลปะและกลิ่นอายของจีนปนอยู่อย่างมาก แม้แต่พระประธานก็ยังประทับอยู่บนฐานด้านล่างแบบจีน เป็นการผสมผสานศิลปะในแบบที่เราไม่เคยเห็น หากแต่สวยงามกลมกลืนเป็นที่สุด

ส่วนในพิพิธภัณฑ์นั้นก็มีผ้าหอพระไตรปิฎกโบราณเป็นจำนวนมาก มีบาตรพระโบราณที่ทำด้วยเหล็ก ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆวัดนี้เก็บเอาไว้อย่างดี ล้วนแต่เป็นโบราณวัตถุที่สวยงามและหายากมีค่าอย่างยิ่ง ฉันไม่เคยไปชมวัดไหนที่เสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ในตัวอย่างเช่นที่นี่เลย ทุกซอกทุกมุมเต็มไปด้วย วัตถุโบราณอย่างกับเราเข้าไปอยู่ในร้านขายของเก่าล้ำค่า ในบริเวณวัดก็สวยงามสะอาดสะอ้านและเป็นระเบียบ มีอาคารโบราณหลายแห่งที่ย้ายมาจากวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งก็ยังอยู่ในสภาพดี ฉันว่าวัดนี้คืออันซีนของจริงแท้ แม้จะได้ยินมาว่าหลังๆเริ่มมีคนรู้จักและไปเที่ยวกันมากขึ้น ก็เชื่อว่ายังไม่มีใครรู้จักมากนัก อย่างเช่นวันนี้เราใช้เวลากว่าชั่วโมงอยู่ในวัด ก็ไม่มีนักท่องเที่ยวอื่นเลยแม้แต่คนเดียวที่มาเยี่ยมชมนอกจากเรา

ฉันโชคดีจริงๆที่ป้าบุดบาพามาแนะนำให้รู้จักวัดย่านอ่างทองนี้ และหลังจากที่ชมวัดย่านอ่างทองและกินอาหารกลางวันที่ร้านชาวบ้านสุดอร่อยในย่านนั้นแล้ว ป้าบุดบาก็พาไปชมอาคารโบราณอีกแห่ง นั่นก็คือบ้านที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “บ้านเขียว” ริมแม่น้ำน้อย หรือบ้านของขุนพิทักษ์บริหารนั่นเอง

บ้านเขียวเป็นบ้านทรงปั้นหยาสองชั้น สร้างในสมัยรัชกาลที่ห้า จึงมีลักษณะเป็นบ้านไทยกลิ่นอายฝรั่ง ที่ทาสีเขียวทั้งหลังเพราะท่านขุนพิทักษ์บริหารเกิดวันพุธ ท่านขุนและภรรยาเป็นเจ้าของกิจการเรือสองชั้นซึ่งใช้ล่องขนส่งคนและสินค้าระหว่างผักไห่กับกรุงเทพและปากน้ำโพ ภายหลังเมื่อท่านขุนสิ้นแล้วและลูกหลานได้ย้ายไปอยู่กรุงเทพกันหมดภรรยาจึงยกบ้านนี้ให้แก่หลวงในปี 2505 ปัจจุบันขึ้นอยู่กับกรมธนารักษ์ เปิดให้คนเข้าไปชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ตัวบ้านมีมากมายหลายห้อง ชั้นบนมีห้องโถงใหญ่และระเบียงซึ่งปูกระเบื้องแบบฝรั่งหันหน้าออกสู่แม่น้ำ ฉันชอบกระเบื้องแบบนี้มากเพราะคล้ายกับกระเบื้องของตึกสุนันทาลัยของโรงเรียนราชินีที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก ล็อกประตูก็เหมือนกับโรงเรียนราชินีเช่นกันคือเป็นเหล็กที่มีความสูงเท่ากับประตู มีที่จับใช้หมุนซ้ายขวาเพื่อปรับความสูงของเหล็กให้ลงกลอนเพื่อล็อคประตูได้ หน้าต่างเป็นบานกระทุ้งหลายบานสวยงามโรแมนติกมาก มีห้องซึ่งมีห่วงเหล็กยึดอยู่ที่พื้นเพื่อเอาไว้ตรึงกับหีบสมบัติด้วย เรียกได้ว่าเป็นตู้เซฟโบราณนั่นเอง ตัวบ้านนับว่าสภาพยังดีอยู่มากเพราะสร้างด้วยไม้สักบนฐานปูน เสียดายที่ไม่ได้รับการดูแลซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอไปและทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ไม่เช่นนั้นจะยิ่งสวยงามกว่านี้อีก

ป้าบุดบาเคยมาที่นี่และได้คุยกับคนที่ดูแลบ้านคนเก่าก่อนที่จะมีคนรู้จักแล้วมาเที่ยวกันมาก ฉันเคยเห็นป้าเล่าในเพจแล้วอยากมามาก วันนี้ดีใจที่ได้มาเห็นของจริงแถมยังมีป้าบุดบาค่อยแอบถ่ายรูปทีเผลอให้อีกเยอะแยะเลย สนุกมากๆ ใครอยากฟังเรื่องบ้านเขียวคงต้องตามไปอ่านที่เพจของป้าบุดบาที่ลิงค์นี้ได้เลย

NO COMMENTS